ผู้เขียน

ดูทั้งหมด
Adam R. Holz

Adam Holz

Adam is senior associate editor at Focus on the Family’s media review website, Plugged In. Adam has also served as associate editor at Discipleship Journal. He is the author of the NavPress Bible study Beating Busyness. Adam is married to Jennifer, an ordained Presbyterian minister. They have three children whose passions include swimming, gymnastics, drama, piano, and asking dad what’s for dessert. In his free time, Adam enjoys playing electric guitar.

บทความ โดย Adam Holz

สัตย์ซื่ออย่างเงียบๆ

ผมไม่ทันสังเกตเห็นเขาในตอนแรก ผมลงมากินอาหารเช้าที่โรงแรม ทุกอย่างในห้องอาหารนั้นสะอาดสะอ้าน โต๊ะบุฟเฟ่ต์มีอาหารอยู่เต็ม ของในตู้เย็นมีพร้อม อุปกรณ์ที่จะต้องใช้จัดเรียงไว้อย่างเพียงพอ ทุกอย่างดูดีมาก

แล้วผมก็เห็นเขา ชายคนหนึ่งคอยเติมอาหารและคอยเช็ดนั่นเช็ดนี่อยู่อย่างเงียบๆ เขาไม่ได้ทำตัวให้เป็นที่สังเกตเลย แต่ยิ่งผมนั่งอยู่ตรงนั้นนานขึ้นผมก็ยิ่งประทับใจ ชายคนนี้ทำงานอย่างรวดเร็ว คอยดูทุกอย่างและคอยเติมอาหารก่อนที่จะมีใครถาม ในฐานะคนที่มีประสบการณ์ด้านงานบริการอาหารคนหนึ่ง ผมสังเกตว่าเขาจะคอยใส่ใจในรายละเอียด ทุกอย่างสมบูรณ์แบบเพราะชายคนนี้ทำงานอย่างสัตย์ซื่อ แม้อาจมีเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่สังเกตเห็น

การมองดูชายคนนี้ทำงานอย่างเอาใจใส่ ทำให้ผมคิดถึงคำพูดของเปาโลในเธสะโลนิกาที่ว่า “จงตั้งเป้าว่าจะอยู่อย่างสงบ และทำกิจธุระส่วนของตน และทำการงานด้วยมือของตนเอง เหมือนอย่างที่เรากำชับท่านแล้ว ...เพื่อท่านจะได้เป็นที่นับถือของคนภายนอก” (1 ธส.4:11-12) เปาโลเข้าใจว่าการเป็นคนงานที่สัตย์ซื่อจะเป็นที่นับถือของคนอื่นได้ จากการนำเสนอคำพยานแบบเงียบๆ ว่าพระกิตติคุณมีผลทำให้การบริการผู้อื่นที่ดูเหมือนเล็กน้อยนั้นกลายเป็นการกระทำที่มีศักดิ์ศรีและเป้าหมาย

ผมไม่รู้ว่าชายคนที่ผมเห็นวันนั้นเป็นผู้เชื่อในพระเยซูหรือไม่ แต่ผมรู้สึกซาบซึ้งใจในความขยันขันแข็งแบบเงียบๆ ของเขาที่เตือนผมให้พึ่งพาในพระเจ้า เพื่อจะใช้ชีวิตด้วยความสัตย์ซื่ออย่างเงียบๆที่สะท้อนพระลักษณะอันสัตย์ซื่อของ พระองค์

โหยหาสิ่งล่อใจ

ผมวางโทรศัพท์ลงด้วยความเบื่อหน่ายกับการระดมส่งรูปภาพ ความคิดเห็น และการแจ้งเตือนอย่างต่อเนื่องมาบนหน้าจอแสดงผลเล็กๆ แต่แล้วผมก็หยิบมันขึ้นมาและเปิดมันอีกครั้ง เพราะเหตุใดกัน

ในหนังสือชื่อ ความตื้นเขิน ของนิโคลัส คาร์ ได้อธิบายว่าอินเทอร์เน็ตปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์ระหว่างเรากับความสงบนิ่งไปอย่างไร “สิ่งที่อินเทอร์เน็ตกำลังทำคือบั่นทอนความสามารถในการจดจ่อและไตร่ตรองของผม ไม่ว่าผมจะออนไลน์อยู่หรือไม่ แต่ความคิดของผมในตอนนี้ก็คาดหวังที่จะรับข้อมูลด้วยวิธีที่อินเทอร์เน็ตนำเสนอ คือมาเป็นระลอกคลื่นแห่งสิ่งละอันพันละน้อยที่เคลื่อนที่อย่างรวดเร็ว ครั้งหนึ่งผมเคยเป็นนักดำน้ำในทะเลแห่งถ้อยคำ แต่ตอนนี้ผมแล่นไปบนผิวน้ำเหมือนชายที่ขับเจ็ตสกี”

การใช้ชีวิตบนเจ็ตสกีแห่งจิตใจที่เคลื่อนไปอย่างรวดเร็วฟังดูไม่ค่อยดีต่อสุขภาพ แต่เราจะเริ่มลดความเร็วลงเพื่อดำดิ่งลงไปในผืนน้ำอันนิ่งสงบแห่งจิตวิญญาณได้อย่างไร

ในสดุดี 131 ดาวิดเขียนว่า “ข้าพระองค์ได้สงบและระงับจิตใจของข้าพระองค์” (ข้อ 2) ถ้อยคำของดาวิดเตือนสติว่าผมมีหน้าที่ที่ต้องทำ การเปลี่ยนแปลงนิสัยนั้นเริ่มด้วยการเลือกที่จะอยู่นิ่ง แม้จะต้องตัดสินใจเลือกเช่นนั้นซ้ำๆอีกหลายครั้ง แล้วเราจะค่อยๆได้พบกับความประเสริฐของพระเจ้าที่จุใจเรา เราจะเป็นเหมือนเด็กเล็กๆที่ได้พักสงบอยู่ในความพึงใจ โดยรู้ว่าพระองค์ผู้เดียวที่ทรงเป็นผู้ประทานความหวัง (ข้อ 3) ซึ่งเป็นความอิ่มเอมใจที่ไม่มีแอปใดในสมาร์ทโฟนจะทำได้ และไม่มีสื่อสังคมใดมอบให้ได้

ไม่จดจำความบาปอีกต่อไป

ผมไม่เคยเห็นน้ำแข็ง แต่ผมรู้สึกถึงมันได้ ด้านท้ายรถกระบะของคุณตาที่ผมกำลังขับมีอาการแกว่ง แฉลบครั้งที่หนึ่ง สอง สาม แล้วผมก็ลอยไปในอากาศ ข้ามกำแพงริมน้ำความสูงสิบห้าฟุต ผมจำได้ว่าตอนนั้นนึกในใจว่า นี่จะเป็นอะไรที่เจ๋งมากเลยถ้าผมไม่ได้กำลังจะตาย อีกสักพักต่อมารถบรรทุกชนโครมเข้ากับเนินเขาลาดชันและกลิ้งลงไปข้างล่าง ผมคลานออกจากที่นั่งที่ถูกบี้โดยไม่ได้รับบาดเจ็บอะไร

รถบรรทุกพังยับเยินในเช้าของเดือนธันวาคมปีค.ศ.1992 พระเจ้าทรงไว้ชีวิตผม แต่คุณตาของผมล่ะท่านจะว่าอย่างไร ที่จริงแล้วท่านไม่เคยพูดถึงรถบรรทุกแม้แต่คำเดียว ไม่เคยเลย ไม่มีการดุด่า ไม่ต้องจ่ายค่าเสียหาย ไม่มีเลย มีแต่การให้อภัยและรอยยิ้มของคุณตาที่ผมไม่เป็นอะไร

ความเมตตาของคุณตาของผมทำให้ผมระลึกถึงพระคุณของพระเจ้าในเยเรมีย์ 31 แม้พวกเขาจะล้มเหลวครั้งยิ่งใหญ่ แต่พระเจ้ายังทรงสัญญาที่จะฟื้นฟูความสัมพันธ์กับประชากรของพระองค์ พระองค์ตรัสว่า “เราจะให้อภัยบาปชั่วของเขา และจะไม่จดจำบาปของเขาทั้งหลายอีกต่อไป” (ข้อ 34)

ผมเชื่อว่าคุณตาของผมไม่เคยลืมว่าผมทำลายรถบรรทุกของท่าน แต่ท่านทำเหมือนที่พระเจ้าทรงทำ คือ ไม่จดจำสิ่งเหล่านั้น ไม่ทำให้ผมอับอาย ไม่ให้ผมจ่ายราคาที่ผมติดค้าง คุณตาได้ทำเช่นเดียวกับที่พระเจ้าทรงตรัสว่าจะทำ คือเลือกที่จะไม่จดจำมันอีกต่อไป ราวกับว่าความผิดที่ผมทำนั้นไม่เคยเกิดขึ้น

อับดับแรกในรายการ

เช้านี้เริ่มต้นเหมือนออกสตาร์ท ผมแทบกระโจนลงจากเตียงเพื่อพุ่งชนกับเส้นตายของวัน ผมระเบิดความเร็วเต็มที่ในการเขียนรายการ “สิ่งที่ต้องทำ” ส่งเด็กๆไปโรงเรียน เสร็จ ไปทำงาน เสร็จ ทั้งหน้าที่ส่วนตัวและอาชีพการงานที่ถาโถมเข้ามาอย่างไม่ขาดสาย

“…13.แก้ไขบทความ 14.เก็บกวาดสำนักงาน 15.วางกลยุทธ์ของทีม 16.เขียนบล็อกเรื่องเทคโนโลยี 17.เก็บกวาดห้องใต้ดิน 18.อธิษฐาน”

เมื่อมาถึงรายการที่ 18 ผมระลึกขึ้นได้ว่าต้องการความช่วยเหลือจากพระเจ้า แต่ผมก็มาไกลแล้วก่อนที่จะฉุกคิดด้วยซ้ำว่าผมกำลังทำคนเดียวโดยพยายามผลักดันด้วยตัวเอง

พระเยซูทรงรู้ พระองค์ทรงรู้ว่าการงานในวันต่างๆของเราจะปะทะเข้ามา คลื่นลมในทะเลแห่งความเร่งรีบที่ไม่หยุดหย่อน พระองค์จึงตรัสสั่งว่า “แต่ท่านทั้งหลายจงแสวงหาแผ่นดินของพระเจ้า และความชอบธรรมของพระองค์ก่อน แล้วพระองค์จะทรงเพิ่มเติมสิ่งทั้งปวงเหล่านี้ให้” (มธ.6:33)

เป็นเรื่องปกติที่จะได้ยินคำตรัสต่างๆของพระเยซูเป็นเสมือน คำบัญชา และก็เป็นเช่นนั้น แต่มีอีกหลายตอนที่เป็น คำเชิญชวน ในพระธรรมมัทธิวบทที่ 6 พระเยซูทรงเชิญชวนให้เราแลกความวิตกกังวลอันบ้าคลั่งของโลก (ข้อ 25-32) กับชีวิตแห่งการไว้วางใจในแต่ละวัน แม้ว่าเรามาถึงรายการที่ 18 ก่อนที่จะระลึกได้ว่าควรมองดูชีวิตจากมุมมองของพระองค์ แต่โดยพระคุณของพระเจ้านั้นพระองค์จะทรงช่วยเราในตลอดวันคืนแห่งการงานของเรา

ยิ่งกว่าทูตของแบรนด์

การแข่งขันในยุคอินเทอร์เน็ตมีความรุนแรงอย่างมาก บริษัทต่างๆพากันพัฒนาวิธีที่สร้างสรรค์เพื่อดึงดูดลูกค้ามากขึ้นเรื่อยๆ ยกตัวอย่างบริษัทรถซูบารุ เจ้าของรถซูบารุมีลูกค้าที่ภักดีต่อแบรนด์เป็นจำนวนมาก ดังนั้นบริษัทจึงได้เชื้อเชิญ “แฟนตัวยง” ให้มาเป็น “ทูตของแบรนด์” สำหรับยานพาหะของบริษัท

เว็บไซต์ของบริษัทบอกไว้ว่า “ทูตของซูบารุเป็นกลุ่มบุคคลพิเศษที่เปี่ยมไปด้วยพลัง ที่ใช้ความรักและความกระตือรือร้นของพวกเขามาอาสาเผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับซูบารุ และช่วยกำหนดอนาคตของแบรนด์” บริษัทต้องการให้ความเป็นเจ้าของซูบารุกลายเป็นส่วนหนึ่งของตัวตนของผู้คน เป็นสิ่งที่พวกเขาหลงใหลมากจนอดไม่ได้ที่จะพูดให้คนอื่นฟัง

ใน 2 โครินธ์ 5 เปาโลอธิบายถึงการเป็น “ทูต” ที่แตกต่างออกไป นั่นคือการชักชวนผู้อื่นให้มาติดตามพระเยซู “เพราะเหตุที่เราเกรงกลัวองค์พระผู้เป็นเจ้าอย่างจับใจเราจึงชักชวนคนทั้งหลาย” (ข้อ 11) จากนั้นท่านได้กล่าวเพิ่มเติมว่า “ทรงมอบเรื่องการคืนดีกันนั้นให้เราประกาศ ฉะนั้นเราจึงเป็นทูตของพระคริสต์โดยที่พระเจ้าทรงขอร้องท่านทั้งหลายทางเรา เราจึงขอร้องท่านในนามของพระคริสต์ให้คืนดีกันกับพระเจ้า​” (ข้อ 19-20)

ผลิตภัณฑ์มากมายสัญญาว่าจะตอบสนองความต้องการในส่วนลึกเพื่อให้เรารู้สึกถึงความสุข ความสมบูรณ์ และเป้าหมาย แต่มีข่าวสารเพียงหนึ่งเดียว เท่านั้นที่เป็นข่าวดีที่ แท้จริง คือข่าวการคืนดีที่ทรงมอบไว้ให้เราในฐานะผู้เชื่อของพระเยซู และเราได้รับสิทธิพิเศษที่จะนำส่งข่าวสารนั้นไปยังโลกนี้ที่สิ้นหวัง

แอบย่องเอาบาปออกไป

วินสตันรู้ดีว่ามันไม่ควรเคี้ยวสิ่งนั้น ดังนั้นมันจึงใช้เล่ห์เหลี่ยมที่เราเรียกว่ากลยุทธ์การเดินย่อง ถ้าวินสตันเห็นใครถอดรองเท้าทิ้งไว้โดยไม่ระวัง มันจะทำเป็นเดินไปทางนั้นโดยไม่ได้ตั้งใจ ก้มไปคาบรองเท้า แล้วค่อยๆเดินย่องออกไปทางประตูถ้าไม่มีใครสังเกตเห็น “แม่ครับ วินสตันคาบรองเท้าแม่และย่องออกไปทางประตูแล้วครับ”

เห็นได้ชัดว่าบางครั้งเราก็คิดว่าเราสามารถ “เดินย่อง” ผ่านพระเจ้าออกไปพร้อมกับบาปของเราได้ เราถูกล่อลวงให้คิดว่าพระองค์จะไม่ทันสังเกต มันไม่ใช่เรื่องใหญ่สักหน่อย ไม่ว่า “มัน” จะเป็นอะไรก็ตามเราจะหาเหตุผลเข้าข้างตนเองเสมอ ไม่ต่างกับวินสตัน เรารู้ดีว่าทางเลือกเหล่านั้นไม่เป็นที่พอพระทัยพระเจ้า

เช่นเดียวกับอาดัมและเอวาในสวนเอเดน เราอาจพยายามซ่อนตัวเพราะความละอายในเรื่องบาปของเรา (ปฐก.3:10) หรือแสร้งทำเป็นว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้น แต่พระคัมภีร์เชื้อเชิญให้เราทำในสิ่งที่แตกต่างไปจากเดิมอย่างมาก นั่นก็คือวิ่งเข้าหาพระเมตตาและการอภัยจากพระเจ้า สุภาษิต 28:13 บอกเราว่า “บุคคลที่ซ่อนการละเมิดของตนจะไม่จำเริญ แต่บุคคลที่สารภาพและทิ้งความชั่วเสียจะได้ความกรุณา”

เราไม่ต้องพยายามเดินย่องออกไปพร้อมกับบาปและหวังว่าจะไม่มีใครสังเกตเห็น เมื่อเราบอกความจริงในสิ่งที่เราตัดสินใจเลือก ไม่ว่าจะบอกกับตัวเอง กับพระเจ้า หรือกับเพื่อนที่ไว้ใจได้ เราจะพบอิสรภาพจากความรู้สึกผิดและความละอายจากการแอบซ่อนความบาปไว้ (1 ยน.1:9)

พระกิตติคุณในที่ที่คาดไม่ถึง

เมื่อไม่นานมานี้ผมพบว่าตัวเองได้ไปในที่ที่ผมเคยเห็นแต่ในภาพยนตร์และทีวีนับครั้งไม่ถ้วน นั่นคือที่ฮอลลีวูด รัฐแคลิฟอร์เนีย จากหน้าต่างโรงแรมที่ผมพักอยู่ ผมมองเห็นตัวอักษรขนาดยักษ์เรียงเด่นเป็นสง่าไปตามเนินเขาชื่อดังของลอสแองเจลิส แล้วผมก็สังเกตเห็นอะไรบางอย่างที่ด้านล่างซ้ายมีไม้กางเขนตั้งอยู่โดดเด่นผมไม่เคยเห็นสิ่งนั้นในภาพยนตร์เลย และทันทีที่ผมออกจากห้องพัก นักศึกษาจำนวนหนึ่งจากคริสตจักรท้องถิ่นได้แบ่งปันเรื่องของพระเยซูกับผม

บางครั้งเราอาจคิดถึงฮอลลีวูดว่าเป็นเพียงจุดศูนย์กลางของโลกนี้ ซึ่งตรงข้ามกับอาณาจักรของพระเจ้าอย่างสิ้นเชิง แต่เห็นได้ชัดว่าพระคริสต์ทรงกระทำการอยู่ที่นั่น ทำให้ผมประหลาดใจกับการทรงสถิตอยู่ของพระองค์

พวกฟาริสีต้องประหลาดใจเสมอกับการปรากฏตัวของพระเยซู พระองค์ไม่ได้ใช้เวลากับคนที่พวกเขาคาดเอาไว้ แต่ในมาระโก 2:13-17 บอกเราว่าพระองค์ทรงใช้เวลากับ “พวกเก็บภาษีและคนบาป” (ข้อ 15) คือคนที่ดำเนินชีวิตที่เห็นได้อย่างชัดเจนว่า “ไม่สะอาด” แต่พระเยซูทรงอยู่ที่นั่นท่ามกลางผู้ที่ต้องการพระองค์มากที่สุด (ข้อ 16-17)

กว่าสองพันปีต่อมา พระเยซูยังทรงปลูกเมล็ดพันธุ์คือถ้อยคำแห่งความหวังและความรอดในที่ที่ไม่คาดฝัน ในท่ามกลางผู้คนที่คาดไม่ถึงที่สุด และพระองค์ได้ทรงเรียกและเตรียมเราให้เป็นส่วนหนึ่งของพันธกิจนั้น

ผมขับรถเป็นอย่างไร

“เฮ้ย!” ผมร้องตะโกนเมื่อรถบรรทุกซ่อมบำรุงขับตัดหน้าไปนั่นเป็นตอนที่ผมเห็นข้อความว่า “ผมขับรถเป็นอย่างไร” พร้อมด้วยเบอร์โทรศัพท์ ผมหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาต่อสาย เสียงผู้หญิงถามถึงเหตุผลที่ผมโทรไป และผมระบายความไม่พอใจของผม เธอจดเลขรถบรรทุกและพูดอย่างอิดโรยว่า “คุณรู้ไหม คุณสามารถโทรมาแจ้งถึงคนที่ขับรถดีได้ตลอดเวลาเลยนะ”

คำพูดที่อ่อนล้าของเธอทำลายความมั่นใจในความชอบธรรมของผมไปทันที ความอับอายถาโถมเข้ามา ด้วยความรีบเร่งที่จะได้ “ความยุติธรรม” ผมไม่ได้หยุดคิดว่าน้ำเสียงที่เต็มไปด้วยความโกรธของผมจะส่งผลต่อผู้หญิงคนนี้กับงานที่ยากของเธออย่างไร ความเชื่อที่ไม่ได้เกิดผลเป็นการกระทำของผม ณ เวลานั้น ได้สร้างความเสียหายอย่างมาก

ช่องว่างระหว่างการกระทำและความเชื่อของเราคือสิ่งที่พระธรรมยากอบมุ่งเน้น เราได้อ่านในยากอบ 1:19-20 ว่า “ดูก่อนพี่น้องที่รักของข้าพเจ้า จงทราบข้อนี้ จงให้ทุกคนไวในการฟัง ช้าในการพูด ช้าในการโกรธ เพราะว่าความโกรธของมนุษย์ไม่ได้กระทำให้เกิดความชอบธรรมแห่งพระเจ้า” ท่านเสริมอีกว่า “จงเป็นคนที่ประพฤติตามพระวจนะนั้น ไม่ใช่เป็นแต่เพียงผู้ฟังเท่านั้นซึ่งเป็นการลวงตนเอง” (ข้อ 22)

ไม่มีใครในพวกเราที่สมบูรณ์แบบ บางครั้ง “การขับเคลื่อน” ของชีวิตเราก็ต้องการความช่วยเหลือ ในแบบที่ต้องเริ่มด้วยการสารภาพและทูลขอการช่วยเหลือจากพระเจ้า โดยวางใจให้พระองค์คอยขัดเกลาอุปนิสัยของเรา

รดน้ำวัชพืช

ฤดูใบไม้ผลินี้สวนหลังบ้านของเราถูกโจมตีโดยวัชพืชราวกับพวกมันหลุดออกมาจากหนังเรื่องจูราสสิค พาร์ค ต้นหญ้าต้นหนึ่งใหญ่มากขนาดที่ตอนถอนมันออกนั้นผมกลัวว่าอาจจะต้องเจ็บตัว ก่อนที่จะหาพลั่วมาขุดมันออกได้ ผมสังเกตเห็นว่าลูกสาวกำลังรดน้ำให้มันอยู่ ผมถามว่า “ทำไมถึงรดน้ำให้มันล่ะลูก” เธอตอบด้วยรอยยิ้มแสนซนว่า “หนูอยากดูว่ามันจะใหญ่ได้ขนาดไหน”

วัชพืชไม่ใช่สิ่งที่เราเลี้ยงดูด้วยความตั้งใจ แต่เมื่อคิดถึงเรื่องนี้ผมก็รู้สึกว่าบางครั้งเราก็เลี้ยงดู “วัชพืช” ในชีวิตฝ่ายจิตวิญญาณของเรา ด้วยการหล่อเลี้ยงความปรารถนาที่เหนี่ยวรั้งการเติบโตของเราไว้

เปาโลเขียนถึงเรื่องนี้ไว้ในพระธรรมกาลาเทีย 5:13-26 ซึ่งท่านเปรียบเทียบการมีชีวิตโดยเนื้อหนังกับการมีชีวิตโดยพระวิญญาณ ท่านบอกว่าการพยายามทำตามบทบัญญัติเพียงอย่างเดียวไม่ได้ทำให้เกิดชีวิตแบบ “ปราศจากวัชพืช” ที่เราต้องการ แต่เปาโลสอนว่าเราจะหลีกเลี่ยงการรดน้ำให้แก่วัชพืชได้โดยการ “ดำเนินชีวิตตามพระวิญญาณ” ท่านเสริมว่าการก้าวเดินไปกับพระเจ้าเป็นประจำ คือการช่วยให้เราเป็นอิสระจากแรงกระตุ้นที่จะ “สนองความต้องการของเนื้อหนัง” (ข้อ 16)

การที่จะเข้าใจคำสอนของเปาโลอย่างถ่องแท้นั้นเป็นกระบวนการที่ต้องใช้เวลาทั้งชีวิต แต่ผมชอบคำแนะนำง่ายๆของท่านที่ว่า แทนที่เราจะเลี้ยงดูวัชพืชที่เราไม่ต้องการโดยการทำตามความปรารถนาฝ่ายเนื้อหนังของเราเอง ให้เราใส่ใจดูแลความสัมพันธ์ของเรากับพระเจ้า แล้วเราจะเกิดผลและเก็บเกี่ยวชีวิตที่พระเจ้าพอพระทัย (ข้อ 22-25)

เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ หากท่านใช้บริการเว็บไซต์นี้ต่อไป นั่นเป็นการแสดงว่าท่านยอมรับ นโยบายการใช้คุกกี้ของเรา