ผู้เขียน

ดูทั้งหมด

บทความ โดย Matt Lucas

ทายาทแห่งความรอดของพระเจ้า

เมื่อพ่อแม่ของอาบีเกลเสียชีวิตอย่างน่าเศร้าในอุบัติเหตุทางรถยนต์ เธอได้รับมรดกเป็นหลักทรัพย์จำนวนมากจากอสังหาริมทรัพย์ เธอรู้ด้วยว่าพ่อแม่ฝากหลักทรัพย์นั้นไว้ในสถาบันการเงิน เวลานี้เธอได้สิทธิ์เบิกเงินได้เพียงแค่ค่าเล่าเรียนในมหาวิทยาลัยเท่านั้น ส่วนที่เหลือเธอจะได้รับเมื่ออายุมากขึ้น อาบีเกลรู้สึกหงุดหงิดใจในตอนแรก แต่ต่อมาเธอตระหนักได้ถึงสติปัญญาของพ่อแม่ในแผนการส่งมอบเงินมรดกในระยะยาว

ในพระธรรมกาลาเทียบทที่ 4 อัครทูตเปาโลยกตัวอย่างที่คล้ายคลึงกันเพื่ออธิบายสถานการณ์ของชนชาติอิสราเอลที่เป็นทายาทตามพระสัญญาของพระเจ้ากับอับราฮัม พระเจ้าทรงทำพันธสัญญากับอับราฮัมว่าจะทรงอวยพรท่าน และการเข้าสุหนัตคือสัญลักษณ์แห่งพระสัญญานั้น (ปฐก.17:1-14) อย่างไรก็ตาม สัญลักษณ์ไม่ใช่พระสัญญา ลูกหลานของอับราฮัมต้องรอคอยผู้สืบเชื้อสายที่จะมาในอนาคตผู้ที่จะทำให้พระสัญญานั้นสมบูรณ์ อิสอัคได้เกิดมาและชี้ไปถึงพระบุตรที่จะเกิดมาในอนาคตเพื่อมาไถ่ชนชาติของพระเจ้า (กท.4:4-5)

ชนชาติอิสราเอลเป็นเช่นเดียวกับอาบีเกลที่ต้องรอจนกว่าจะ “ถึงเวลาที่บิดาได้กำหนดไว้” (ข้อ 2) เมื่อถึงเวลานั้นชนอิสราเอลจึงจะได้ครอบครองมรดกทั้งหมด พวกเขาจะได้รับสิ่งที่ต้องการทันทีเมื่อพระเยซูทรงสิ้นพระชนม์ ถูกฝัง และทรงฟื้นคืนพระชนม์ ทุกคนที่เชื่อในพระคริสต์จะไม่เป็นทาสของบาปอีกต่อไป “แต่เป็นบุตร” (ข้อ 7) ของพระเจ้า พระสัญญาใหม่ได้เริ่มขึ้นแล้ว เราสามารถเข้าหาพระเจ้าได้! เราสามารถเรียกพระองค์ว่า “‘อาบา’คือพระบิดา” (ข้อ 6)

ชีวิตที่ถูกพัฒนาในพระคริสต์

เมื่อตอนที่เราสร้างบ้าน บ้านของเราตั้งอยู่บนที่ดินว่างเปล่าที่เต็มไปด้วยโคลนและอยู่สุดถนนลูกรัง เราต้องการหญ้า ต้นไม้ และพุ่มไม้เพื่อให้กลมกลืนกับสภาพแวดล้อมของเชิงเขาโอเรกอน ขณะที่ผมเอาเครื่องมือทำสวนออกมาเพื่อใช้งาน ผมคิดถึงสวนแห่งแรกที่รอคอยการมาถึงของมนุษย์ “ต้นไม้​ตาม​ทุ่ง​นา​ยัง​ไม่​เกิดขึ้น​บน​แผ่นดิน และ​พืช​ตาม​ทุ่ง​นา​ก็​ยัง​ไม่​งอก​ขึ้น​...ทั้ง​ยัง​ไม่​มี​มนุษย์​ที่​จะ​ทำ​ไร่​ไถ​นา​” (ปฐก.2:5)

ในเรื่องราวการทรงสร้างในปฐมกาล 1 พระเจ้าตรัสหลายครั้งเมื่อทรงเห็นว่าสิ่งที่ทรงสร้างนั้น “ดี” หรือ “ดีนัก” (ข้อ 4, 10, 12, 18, 21, 25, 31) อย่างไรก็ตาม มันยังไม่สมบูรณ์ อาดัมและเอวาจำเป็นต้องทำการเพาะปลูกบนผืนดินนั้น เพื่อทำหน้าที่ผู้ดูแลสิ่งที่พระเจ้าทรงสร้าง (ข้อ 28) พวกเขาไม่ได้ถูกกำหนดให้อยู่ในสรวงสวรรค์ที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลง แต่เป็นที่ซึ่งต้องการการดูแลและพัฒนา

นับตั้งแต่เริ่มแรก พระเจ้าทรงเชิญชวนมนุษย์ให้ร่วมมือกับพระองค์ในการทรงสร้าง พระองค์ทรงกระทำเช่นนั้นทั้งในสวนเอเดน และในการทรงสร้างเราให้เป็น “คนที่ถูกสร้างใหม่” เมื่อเราเชื่อวางใจในพระคริสต์ (2 คร.5:17) เมื่อได้รับความรอดนั้นเราไม่ได้สมบูรณ์แบบ ดังที่อัครทูตเปาโลกล่าวว่า “อย่า​ประพฤติ​ตาม​อย่าง​คน​ใน​ยุค​นี้” (รม.12:2) พระเจ้าทรงทำกิจในชีวิตเราเมื่อเราดำเนินชีวิตตามชอบพระทัยของพระองค์ “​ตาม​ลักษณะ​พระ​ฉายแห่ง​พระ​บุตร​ของ​พระ​องค์” (8:29)

ไม่ว่าจะเป็นการดูแลโลกนี้หรือการดูแลชีวิตใหม่ของเราในพระเยซูคริสต์ พระเจ้าได้ประทานของประทานให้แก่เราแล้วที่เราจะต้องพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น

เดินกับพระเจ้า

เป็นเวลาหลายปีมาแล้วที่ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกกำลังกายพูดถึงความสำคัญของการวิ่งเพื่อสุขภาพของระบบหัวใจและหลอดเลือด แต่ผลการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ล่าสุดเปิดเผยว่าการเดินประจำวันก็มีประโยชน์ต่อสุขภาพเช่นกัน สถาบันสุขภาพแห่งชาติของอเมริกากล่าวว่า “ผู้ใหญ่ที่เดินอย่างน้อย 8,000 ก้าวต่อวันลดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตในช่วง 10 ปีหลังจากนั้นได้มากกว่าคนที่เดินแค่ 4,000 ก้าวต่อวัน” การเดินนั้นส่งผลดีต่อเรา

ตลอดเรื่องราวในพระคัมภีร์ การเดินถูกใช้เป็นภาพเปรียบเทียบถึงการมีสามัคคีธรรมกับพระเจ้า ในปฐมกาล 3 เราได้รู้ว่าพระเจ้าทรงดำเนินกับอาดัมและเอวาอย่างไรใน “เวลาเย็นวันนั้น” (ข้อ 8) ปฐมกาล 5 แบ่งปันเรื่องราวของเอโนคผู้ “ดำเนินกับพระเจ้าอย่างสัตย์ซื่อสามร้อยปี” (ข้อ 22) วันหนึ่งในการใช้เวลาตามปกติของเอโนคกับองค์พระผู้สร้างของท่านได้นำไปสู่การที่ท่านถูกรับไปอยู่กับพระเจ้า (ข้อ 24) ในปฐมกาล 17 พระเจ้าทรงเชื้อเชิญให้อับราม “ดำเนินอยู่ต่อหน้า” พระองค์เมื่อพระองค์ทำพันธสัญญากับท่าน (ข้อ 1) และในช่วงบั้นปลายของชีวิตยาโคบได้เปรียบว่าพระเจ้าทรงเป็นพระผู้เลี้ยงของท่าน และพูดถึงบรรพบุรุษของท่านที่ได้ “ดำเนินชีวิตอย่างซื่อสัตย์” (48:15 TNCV) ในพันธสัญญาใหม่ เปาโลสั่งให้เรา “ดำเนินชีวิตตามพระวิญญาณ” (กท.5:16)

เช่นเดียวกับเอโนคและบรรพบุรุษในปฐมกาล เราเองก็ดำเนินกับพระเจ้าในทุกวันได้ เราทำเช่นนั้นได้ด้วยการยอมจำนนชีวิตเราต่อพระเยซู และรับการทรงนำโดยพระวิญญาณบริสุทธิ์ นี่คือหนทางแห่งสุขภาพที่แท้จริง

การเดินของคุณเป็นอย่างไรบ้าง

สร้างสิ่งซึ่งยั่งยืน

ตอนผมยังเป็นเด็กอยู่ที่รัฐโอไฮโอ เราอาศัยใกล้โครงการก่อสร้างจำนวนมาก ผมกับเพื่อนๆได้แรงบันดาลใจจากสิ่งเหล่านั้นจึงรวบรวมเศษวัสดุที่ทิ้งแล้วมาสร้างป้อม โดยยืมเครื่องมือจากพ่อแม่ของเรา เราลำเลียงไม้และใช้เวลาหลายวันในการพยายามทำให้วัสดุนั้นเป็นไปตามวัตถุประสงค์ มันสนุก แต่ความพยายามของเรากลับได้ผลตรงกันข้ามกับอาคารที่สร้างไว้อย่างดีรอบตัวเรา สิ่งก่อสร้างของเราอยู่ได้ไม่นาน

ในปฐมกาลบทที่ 11 เราได้พบกับโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ “ให้เราสร้างเมืองขึ้น” ประชาชนกล่าว “และก่อหอให้ยอดเทียมฟ้า” (ข้อ 4) ความพยายามนี้ก่อให้เกิดปัญหาใหญ่คือคนเหล่านั้นทำเพื่อ “เราจะได้สร้างชื่อให้กับตนเอง” (ข้อ 4 TNCV)

เราสร้างอนุสรณ์สถานเพื่อตัวเราเองและเพื่อความสำเร็จของเรา นี่เป็นปัญหาของมนุษย์ที่เกิดขึ้นซ้ำๆ ต่อมาพระคัมภีร์เล่าถึงแรงจูงใจของซาโลมอนในการสร้างพระนิเวศสำหรับพระเจ้า ซึ่งเป็นเรื่องตรงกันข้าม “ข้าพเจ้าจึงประสงค์จะสร้างพระนิเวศสำหรับพระนามของพระเยโฮวาห์พระเจ้าของข้าพเจ้า” (1 พกษ.5:5)

ซาโลมอนเข้าใจว่าสิ่งที่พระองค์สร้างขึ้นจำเป็นต้องนำไปสู่พระเจ้า ไม่ใช่ตัวพระองค์เอง นี่เป็นบทเรียนสำคัญจนพระองค์ประพันธ์ไว้เป็นบทเพลง ในเพลงสดุดีบทที่ 127 เริ่มด้วยว่า “ถ้าพระเจ้ามิได้ทรงสร้างบ้าน บรรดาผู้ที่สร้างก็เหนื่อยเปล่า” (ข้อ 1) เหมือนกับการสร้างป้อมในวัยเด็กของผม สิ่งที่เราสร้างจะไม่คงอยู่ แต่พระนามของพระเจ้าและสิ่งที่เราทำเพื่อพระองค์จะมีความสำคัญอย่างยั่งยืน

ข้าวหนึ่งกำมือ

รัฐมิโซรัมทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศอินเดียก้าวออกจากความยากจนอย่างช้าๆ แม้ว่ารัฐนี้จะขาดรายได้ แต่เมื่อข่าวประเสริฐเข้ามาสู่พื้นที่นี้ ผู้เชื่อในพระเยซูได้ทำตามธรรมเนียมปฏิบัติท้องถิ่นที่เรียกว่า “ข้าวหนึ่งกำมือ” โดยทุกคนที่ทำอาหารในแต่ละวันจะแบ่งข้าวสารไว้หนึ่งกำมือและมอบให้คริสตจักร ตามมาตรฐานของโลกแล้วคริสตจักรในมิโซรัมถือว่ายากจน แต่ได้บริจาคเงินนับล้านให้กับการประกาศและส่งมิชชันนารีไปทั่วโลก คนมากมายในรัฐนั้นได้มารู้จักพระคริสต์

ใน 2 โครินธ์ 8 เปาโลพูดถึงคริสตจักรที่พบความท้าทายคล้ายกัน ผู้เชื่อในมาซิโดเนียนั้นยากจน แต่นั่นไม่ได้หยุดพวกเขาที่จะให้ด้วยใจยินดีและเต็มกำลัง (ข้อ 1-2) พวกเขามองว่าการให้นั้นเป็นสิทธิพิเศษและได้ให้ “เกินความสามารถของเขา” (ข้อ 3) เพื่อจะได้มีส่วนร่วมกับเปาโล โดยเข้าใจดีว่าพวกเขาเป็นเพียงผู้อารักขาในของประทานจากพระเจ้า การให้จึงเป็นการแสดงถึงความเชื่อวางใจของพวกเขาในพระองค์ผู้ทรงจัดเตรียมสำหรับความจำเป็นทุกอย่างของเรา

เปาโลใช้เรื่องราวของชาวมาซิโดเนียเพื่อหนุนใจชาวโครินธ์ให้แบ่งปันเช่นเดียวกัน ชาวโครินธ์มีพร้อม “บริบูรณ์ทุกสิ่ง คือความเชื่อ ฝีปาก ความรู้ ความกระตือรือร้น และความรัก” บัดนี้พวกเขาจึงต้อง “ประกอบการกุศลนี้อย่างบริบูรณ์เหมือนกัน” (ข้อ 7)

ดังเช่นชาวมาซิโดเนียและผู้เชื่อในมิโซรัม เราเองก็สามารถสะท้อนถึงความเมตตาของพระบิดาได้โดยการให้ด้วยใจกว้างขวางในสิ่งที่เรามี

พระคุณและความยุติธรรมของพระเจ้า

จิตรกรแนวโรแมนติกชาวอังกฤษ จอห์น มาร์ติน (ค.ศ. 1789-1854) เป็นที่รู้จักจากภาพวาดที่เกี่ยวกับวันสิ้นโลกซึ่งแสดงถึงการล่มสลายของอารยธรรม ในภาพเหตุการณ์ใหญ่อย่างไม่น่าเชื่อเหล่านี้ มนุษย์ถูกปกคลุมไปด้วยการทำลายล้างขนาดมหึมาและไร้กำลังที่จะต่อต้านหายนะที่ประชิดเข้ามา ภาพวาดชิ้นหนึ่งชื่อ การล่มสลายของนครนีนะเวห์ แสดงให้เห็นภาพที่ผู้คนกำลังหลบหนีจากการทำลายล้างของคลื่นที่ก่อตัวขึ้นสูงภายใต้กลุ่มเมฆม้วนอันดำมืด

กว่าสองพันปีก่อนภาพวาดของมาร์ติน ผู้เผยพระวจนะนาฮูมเผยพระวจนะต่อต้านเมืองนีนะเวห์โดยบอกล่วงหน้าถึงการพิพากษา ผู้เผยพระวจนะใช้ภาพภูเขาที่สั่นสะเทือน เนินเขาก็ละลายไป และแผ่นดินโลกก็เริศร้าง (นฮม.1:5) เพื่อเป็นสัญลักษณ์ถึงพระพิโรธของพระเจ้าต่อผู้ที่กดขี่คนอื่นเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง อย่างไรก็ตามการตอบสนองของพระเจ้าต่อบาปนั้นกอปรด้วยพระคุณเสมอ ขณะที่นาฮูมเตือนผู้ฟังถึงฤทธานุภาพของพระเจ้า ท่านบันทึกว่าพระองค์ “ทรงกริ้วช้า” (ข้อ 3) และ “ทรงห่วงใยบรรดาผู้ที่วางใจในพระองค์” (ข้อ 7 TNCV)

คำบรรยายถึงเรื่องการพิพากษานั้นยากที่จะเข้าใจ แต่โลกที่ไม่ต่อต้านความชั่วร้ายนั้นคงจะเป็นโลกที่น่าหวั่นกลัว น่าดีใจที่ผู้เผยพระวจนะไม่ได้จบลงที่ข้อความนั้น ท่านเตือนความจำเราว่าพระเจ้าทรงปรารถนาโลกที่ดีและยุติธรรม “ดูเถิด บนภูเขานั่น เท้าของผู้นำข่าวดีมา ผู้ประกาศสันติภาพ!” (ข้อ 15 TNCV) ข่าวดีที่ว่านั้นก็คือพระเยซู ผู้ได้ทรงทนทุกข์กับผลของบาปเพื่อเราทั้งหลายจะได้มีสันติสุขในพระเจ้า (รม.5:1, 6)

จิตใจที่สำนึกผิด

เพื่อนคนหนึ่งได้ละเมิดคำปฏิญาณแห่งการแต่งงานของเขา ผมเจ็บปวดที่เห็นเขาทำลายครอบครัวของตัวเอง ขณะที่ขอคืนดีกับภรรยาเขาขอคำแนะนำจากผม ผมบอกว่าเขาต้องทำมากกว่าแค่คำพูด เขาจำเป็นต้องแสดงความรักต่อภรรยาอย่างจริงจัง และขจัดนิสัยบาปออกไป

ผู้เผยพระวจนะเยเรมีย์ให้คำแนะนำที่คล้ายกันนี้แก่ผู้ที่ละเมิดพันธสัญญาของพระเจ้าและไปติดตามพระอื่น การกลับมาหาพระองค์เพียงเท่านั้นไม่พอ (ยรม.4:1)แม้นั่นจะเป็นการเริ่มต้นที่ถูกต้องก็ตาม พวกเขายังต้องปรับการกระทำให้สอดคล้องกับสิ่งที่พวกเขาพูดด้วย คือการกำจัด “สิ่ง​ที่​น่า​สะอิดสะเอียน” (ข้อ 1) เยเรมีย์กล่าวว่า ถ้าพวกเขามุ่งมั่นที่จะทำ “อย่าง​สัจ​จริง​ อย่าง​ยุติธรรม และ​อย่าง​เที่ยงตรง” พระเจ้าก็จะทรงอวยพรบรรดาประชาชาติ (ข้อ 2) ปัญหาคือพวกเขาเพียงแค่ให้คำสัญญาที่ว่างเปล่า หัวใจของพวกเขาไม่ได้อยู่ในนั้น

พระเจ้าไม่ต้องการแค่เพียงคำพูด พระองค์ทรงต้องการหัวใจของเรา ดังที่พระเยซูตรัสว่า “ด้วย​ว่า​ปาก​นั้น พูด​จาก​สิ่ง​ที่มา​จาก​ใจ” (มธ.12:34) นั่นเป็นเหตุผลที่เยเรมีย์หนุนใจผู้ที่ยอมรับฟังว่า ให้พวกเขา​ทุบ​ดินแห่งจิตใจของตนที่​ไถ​ไว้​แล้ว​นั้น และ​อย่า​หว่าน​ลง​กลาง​พงหนาม (ยรม.4:3)

น่าเศร้าที่เพื่อนของผมไม่ฟังคำแนะนำตามหลักพระคัมภีร์ ซึ่งส่งผลให้ชีวิตแต่งงานของเขาต้องจบลงเช่นเดียวกับอีกหลายๆคน เมื่อเราทำบาป เราต้องสารภาพบาปและหันหลังกลับ พระเจ้าไม่ต้องการคำสัญญาที่ว่างเปล่า พระองค์ทรงปรารถนาชีวิตที่เชื่อฟังพระองค์อย่างแท้จริง

ข่าวที่ควรค่าแก่การฉลอง

เป็นเวลานานกว่าสองศตวรรษที่บทเพลง “อยากจะมีลิ้นสักพันบรรเลง” ได้อยู่บนหน้าแรกในหนังสือเพลงนมัสการของคริสตจักรเมธอดิสต์ เพลงนี้ประพันธ์โดยชาร์ลส์ เวสลี่ย์ และมีชื่อเดิมว่า “เพลงฉลองวันครบรอบการกลับใจใหม่” ซึ่งแต่งขึ้นเพื่อระลึกถึงจุดเริ่มต้นการฟื้นฟูครั้งใหญ่ที่เกิดจากความเชื่อของเขาในพระเยซู ประกอบด้วยเนื้อเพลงสิบแปดท่อนที่ป่าวประกาศถึงพระเกียรติสิริแห่งความดีของพระเจ้าที่มีต่อผู้ที่กลับใจและติดตามพระคริสต์

นี่เป็นความเชื่อที่ควรค่าแก่การเฉลิมฉลองและแบ่งปัน ใน 2 ทิโมธี บทที่ 2 เปาโลหนุนใจทิโมธีให้ยังคงยึดมั่นและทุ่มเทในการส่งต่อความเชื่อของเขา ท่านบอกว่า “ตามข่าวประเสริฐที่ข้าพเจ้าประกาศนั้น และเพราะเหตุข่าวประเสริฐนั้นข้าพเจ้าจึงทนทุกข์ ถูกล่ามโซ่ดังผู้ร้าย” (ข้อ 8-9) แทนที่จะตั้งคำถามกับสิ่งที่เปาโลเลือก ท่านเตือนทิโมธีให้ระลึกถึงเนื้อหาของข่าวประเสริฐที่ว่า “พระเยซูคริสต์ผู้ได้ทรงถูกชุบให้เป็นขึ้นมาจากความตาย และทรงสืบเชื้อสายจากดาวิด” (ข้อ 8) ได้เสด็จมาไม่ใช่เพื่อจะปกครองแต่มาเพื่อรับใช้ และในที่สุดได้ทรงสิ้นพระชนม์เพื่อความบาปของโลกนี้เพื่อเราจะได้มีสันติสุขในพระเจ้า ความตายหาได้มีชัย เพราะพระเยซูทรงฟื้นคืนพระชนม์

เช่นเดียวกับที่ข่าวประเสริฐได้ปลดปล่อยบรรดาผู้เชื่อให้เป็นอิสระ ข่าวประเสริฐเองก็มิได้ถูกผูกมัด “พระวจนะของพระเจ้านั้นไม่มีผู้ใดเอาโซ่ล่ามไว้ได้” เปาโลกล่าว (ข้อ 9) แม้จากสถานที่ที่ความตายดูเหมือนจะมีชัยอย่างห้องขัง เตียงในโรงพยาบาล หรือข้างหลุมฝังศพ แต่ในพระคริสต์นั้นมีความหวังสำหรับมนุษย์ทุกคน นี่คือข่าวดีที่ควรค่าแก่การเฉลิมฉลอง!

ความเชื่ออย่างเหลือล้น

เมื่อไม่กี่ปีก่อน มีการเชิญชวนให้คริสตจักรของเราช่วยจัดที่พักแก่ผู้ลี้ภัยที่หนีความวุ่นวายจากการเปลี่ยนผู้นำทางการเมืองในประเทศของพวกเขา ครอบครัวเหล่านั้นมาพร้อมกับข้าวของเท่าที่พวกเขาจะใส่ลงไปได้ในกระเป๋าใบเล็กๆมีหลายครอบครัวในคริสตจักรของเราที่เปิดบ้านให้เป็นที่พัก รวมถึงบางคนที่มีห้องเล็กๆ

การมีน้ำใจรับรองแขกของพวกเขาสะท้อนถึงพระบัญชาสามประการที่พระเจ้ามีต่อชนอิสราเอลเมื่อพวกเขาเดินทางเข้าสู่ดินแดนแห่งพระสัญญา (ฉธบ. 24:19-21) เนื่องด้วยเป็นสังคมเกษตรกรรม พวกเขาจึงเข้าใจถึงความสำคัญของการเก็บเกี่ยว พืชผลมีความจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการดำรงชีวิตให้ถึงปีหน้า นี่ทำให้พระบัญชาของพระเจ้าที่ “ให้ [ฟ่อนข้าว]เป็นของคนต่างด้าว ลูกกำพร้าและแม่ม่าย” (ข้อ 19) เป็นการเรียกร้องให้พวกเขาเชื่อวางใจในพระองค์ด้วย ชาวอิสราเอลต้องแสดงความมีน้ำใจด้วยการให้ไม่ใช่แค่ในเวลาที่พวกเขารู้ว่าตนมีพอ แต่ต้องให้ด้วยหัวใจที่เชื่อมั่นในการทรงจัดเตรียมของพระเจ้าด้วย

การต้อนรับขับสู้นี้ยังเป็นเครื่องเตือนใจว่า “[พวกเขา]เคย​เป็น​ทาส​อยู่​ใน​อียิปต์” (ข้อ 18, 22) ครั้งหนึ่งพวกเขาถูกกดขี่และขัดสน ความมีน้ำใจของพวกเขาเตือนให้ระลึกถึงพระกรุณาคุณของพระเจ้าที่ช่วยปลดปล่อยพวกเขาจากพันธนาการ

ในทำนองเดียวกัน ผู้เชื่อในพระเยซูก็ถูกเรียกร้องให้มีน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ด้วย เปาโลเตือนเราว่า “แม้ ​[พระเยซู]มั่ง​คั่ง ​พระ​องค์​ก็​ยัง​ทรง​ยอม​เป็น​คน​ยากจน เพราะ​เห็น​แก่​ท่าน​ทั้ง​หลาย เพื่อ​ท่าน​ทั้ง​หลาย​จะ​ได้​เป็น​คน​มั่ง​มี เนื่องจาก​ความ​ยากจน​ของ​พระ​องค์​” (2 คร.8:9) เราให้เพราะพระองค์ทรงให้เราก่อน

เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ หากท่านใช้บริการเว็บไซต์นี้ต่อไป นั่นเป็นการแสดงว่าท่านยอมรับ นโยบายการใช้คุกกี้ของเรา