ผู้เขียน

ดูทั้งหมด

บทความ โดย Linda Washington

คนมีปัญญาสร้างบ้าน

โซเจอร์เนอร์ ทรูธ มีชื่อเดิมว่า อิซาเบลล่า บอมฟรี เธอเกิดมาเป็นทาสในปี 1797 ที่เมืองอิโซปัส รัฐนิวยอร์ก ลูกของเธอถูกขายไปเป็นทาสเกือบหมด แต่ตัวเธอพาลูกสาวคนหนึ่งหลบหนีจนได้รับอิสรภาพในปี 1826 และอยู่กับครอบครัวที่จ่ายค่าไถ่ให้เธอ แทนที่จะยอมให้ครอบครัวต้องพลัดพรากเพราะระบบอันอยุติธรรม เธอดำเนินการทางกฎหมายจนได้ปีเตอร์ลูกชายคนเล็กกลับมาอยู่ด้วยกัน ซึ่งเป็นเรื่องน่าทึ่งสำหรับหญิงแอฟริกันในยุคนั้น เธอรู้ว่าไม่สามารถเลี้ยงลูกได้หากไม่มีการช่วยเหลือจากพระเจ้า เธอจึงรับเชื่อในพระองค์และภายหลังได้เปลี่ยนมาใช้ชื่อว่า โซเจอร์เนอร์ ทรูธ เพื่อแสดงว่าชีวิตของเธอสร้างขึ้นบนความจริงของพระเจ้า

กษัตริย์ซาโลมอนผู้เขียนสุภาษิต 14 ประกาศว่า “ปัญญาสร้างเรือนของเธอขึ้น” (ข้อ 1) แต่คนที่ไร้ปัญญา “รื้อมันลง” ภาพการสร้างบ้านนี้แสดงให้เห็นถึงปัญญาที่พระเจ้าจัดเตรียมแก่ผู้ที่เต็มใจฟัง คนเราจะสร้างบ้านด้วยปัญญาได้อย่างไร ก็โดยการพูดสิ่งที่ “เป็นคุณแก่คนที่ได้ยินได้ฟัง” (อฟ.4:29 และดู 1 ธส.5:11) แล้วเราจะรื้อบ้านได้อย่างไร สุภาษิต 14 ตอบว่า “วาจายโสของคนโง่นำโทษทัณฑ์มาสู่ตนเอง” (ข้อ 3 TNCV)

ขอบคุณพระปัญญาของพระเจ้าที่ทำให้โซเจอร์เนอร์ “อยู่อย่างอุ่นใจ” (ข้อ 26) ในสถานการณ์วุ่นวาย คุณอาจไม่เคยต้องช่วยลูกจากความอยุติธรรม แต่คุณสามารถสร้างบ้านบนรากฐานเดียวกันกับโซเจอร์เนอร์ นั่นคือบนสติปัญญาของพระเจ้า

ช่วยคนอ่อนเปลี้ย

คุณจะเลือกสิ่งใดระหว่างเล่นสกีในวันหยุดที่สวิตเซอร์แลนด์ กับช่วยเหลือเด็กจากอันตรายในกรุงปราก นิโคลาส วินตันเป็นแค่ผู้ชายธรรมดาที่เลือกอย่างหลัง ในปี 1938 สงครามระหว่างเชโกสโลวาเกียและเยอรมันใกล้จะปะทุเต็มที หลังจากที่นิโคลาสไปเยี่ยมค่ายผู้อพยพในกรุงปราก ที่ซึ่งชาวยิวมากมายอาศัยอยู่ด้วยความหวาดกลัว เขาถูกผลักดันด้วยความคิดที่จะช่วยเหลือ เขาหาทุนเพื่อส่งเด็กหลายร้อยคนออกจากปรากไปยังเกาะอังกฤษอย่างปลอดภัย โดยมีครอบครัวชาวอังกฤษรับไปดูแลก่อนที่สงครามโลกครั้งที่สองจะเริ่มขึ้น

การกระทำของเขาเป็นตัวอย่างของสิ่งที่สดุดี 82 เรียกให้เราทำ “จงดำรงสิทธิของผู้ที่ทุกข์ยาก และคนสิ้นเนื้อประดาตัว” (ข้อ 3) อาสาฟผู้เขียนสดุดีบทนี้ ต้องการกระตุ้นให้คนของท่านช่วยเหลือผู้ที่ขัดสน “จงช่วยคนอ่อนเปลี้ยและ คนขัดสนให้พ้น ช่วยกู้เขาจากมือของคนอธรรม” (ข้อ 4) เช่นเดียวกับเด็กๆที่นิโคลาสทำงานอย่างไม่ย่อท้อเพื่อช่วยเหลือ ผู้เขียนสดุดีพูดแทนคนเหล่านั้นที่ไม่สามารถพูดเพื่อตัวเอง คนขัดสนและแม่ม่ายที่ต้องการความยุติธรรมและการปกป้อง

ทุกที่ที่เรามองไปในวันนี้ เราเห็นผู้คนที่ขัดสนจากสงคราม พายุ และความทุกข์ยากต่างๆ แม้เราไม่อาจช่วยแก้ไขปัญหาได้ทุกอย่าง เราพิจารณาด้วยใจอธิษฐานได้ว่า เราจะทำสิ่งใดได้บ้างเพื่อช่วยเหลือในสถานการณ์ที่พระเจ้าทรงนำเข้ามาในชีวิตเรา

บริสุทธิ์ด้วยไฟ

ทองคำยี่สิบสี่กะรัตนั้นเกือบเทียบเท่าทองคำร้อยเปอร์เซ็นต์ที่มีการปนเปื้อนเพียงเล็กน้อย แต่การไปถึงอัตราส่วนนั้นเป็นไปได้ยาก การทำให้บริสุทธิ์ผู้หลอมมักจะใช้หนึ่งในสองวิธีนี้ นั่นคือกระบวนการมิลเลอร์ซึ่งรวดเร็วและถูกที่สุด แต่จะได้ทองคำบริสุทธิ์ประมาณ 99.95 เปอร์เซ็นต์ ส่วนการสกัดด้วยกระบวนการโวห์วีลล์ใช้เวลานานขึ้นและค่าใช้จ่ายสูงกว่า แต่จะได้ทองคำบริสุทธิ์ 99.99 เปอร์เซ็นต์

ในสมัยพระคัมภีร์ การทำให้บริสุทธิ์นั้นใช้ไฟเช่นเดียวกับการสกัดทองคำ ไฟทำให้สิ่งปนเปื้อนลอยขึ้นด้านบนจึงขจัดออกได้ง่าย ในจดหมายฉบับแรกที่อัครทูตเปโตรเขียนถึงผู้เชื่อในพระเยซูในเอเชียน้อย (ทางเหนือของตุรกี) นั้น ท่านใช้กระบวนการสกัดทองคำเพื่อเปรียบเทียบถึงวิธีที่การทดลองมีผลต่อชีวิตผู้เชื่อ ในเวลานั้นผู้เชื่อจำนวนมากถูกข่มเหงจากโรมันเพราะความเชื่อในพระคริสต์ เปโตรเข้าใจเป็นอย่างดี แต่เปโตรอธิบายว่าการข่มเหงพิสูจน์ถึง“ความเชื่อ [ของเรา] อันประเสริฐ” (1 ปต.1:7)

บางครั้งคุณอาจรู้สึกว่ากำลังถูกถลุงด้วยไฟ โดยสัมผัสถึงความร้อนของความพ่ายแพ้ ความเจ็บป่วย หรืออุปสรรคต่างๆ แต่ความยากลำบากมักเป็นกระบวนการที่พระเจ้าทรงใช้เพื่อชำระทองคำแห่งความเชื่อของเราให้บริสุทธิ์ในความเจ็บปวด เราอาจอ้อนวอนพระเจ้าให้กระบวนการนี้สิ้นสุดโดยเร็ว แต่พระองค์ทรงทราบสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับเราแม้ในช่วงเวลาเจ็บปวดของชีวิต ให้เราติดสนิทกับองค์พระผู้ช่วยให้รอด และแสวงหาการทรงปลอบประโลมและสันติสุขในพระองค์

เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ หากท่านใช้บริการเว็บไซต์นี้ต่อไป นั่นเป็นการแสดงว่าท่านยอมรับ นโยบายการใช้คุกกี้ของเรา