ผู้เขียน

ดูทั้งหมด

บทความ โดย Karen Huang

คุณวางใจในพระเจ้าได้

เมื่อมิกกี้แมวของฉันติดเชื้อที่ตา ฉันหยอดตาให้มันทุกวัน ทันทีที่วางมันที่บนเคาน์เตอร์ในห้องน้ำ มันนั่งลง มองฉันด้วยสายตาตื่นกลัว และเตรียมพร้อมสำหรับของเหลวที่จะพุ่งเข้ามา “เด็กดี” ฉันพึมพำ แม้ว่ามันจะไม่เข้าใจสิ่งที่ฉันทำ แต่ก็ไม่เคยกระโดดหนี ขู่ฟ่อหรือข่วนฉัน แต่จะเบียดตัวเข้ามาใกล้ฉันที่ทำให้มันเจอกับประสบการณ์ยากลำบาก มันรู้ว่าไว้ใจฉันได้

เมื่อดาวิดเขียนพระธรรมสดุดีบทที่ 9 ท่านคงมีประสบการณ์กับความรักและความสัตย์ซื่อของพระเจ้ามามากแล้ว ท่านหันไปหาพระองค์เพื่อขอการปกป้องให้พ้นจากศัตรู และพระเจ้าทรงกระทำกิจแทนท่าน (ข้อ 3-6) ในช่วงเวลาที่ดาวิดต้องการ พระเจ้าไม่ทรงทำให้ท่านผิดหวัง ด้วยเหตุนี้ดาวิดจึงรู้ว่าพระองค์ทรงเป็นอย่างไร พระเจ้าทรงฤทธิ์อำนาจและทรงชอบธรรม ทรงรักและทรงสัตย์ซื่อ และด้วยเหตุนี้ดาวิดจึงไว้วางใจพระองค์ ท่านรู้ว่าพระเจ้าทรงเป็นที่ไว้วางใจได้

ฉันดูแลมิกกี้ผ่านความเจ็บป่วยมาหลายครั้งตั้งแต่คืนที่ฉันพบมันตอนเป็นลูกแมวตัวเล็กๆที่หิวโหยอยู่ข้างถนน มันรู้ว่ามันจะไว้ใจฉันได้ แม้ว่าฉันจะทำบางอย่างกับมันโดยที่มันไม่เข้าใจก็ตาม ในทำนองเดียวกันการระลึกถึงความสัตย์ซื่อของพระเจ้าที่ทรงมีต่อเราและพระลักษณะของพระองค์ ช่วยให้เราวางใจพระองค์เมื่อเราไม่เข้าใจสิ่งที่พระองค์กำลังทำ ขอให้เรายังคงวางใจในพระเจ้าต่อไปผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากในชีวิต

สมอแห่งความหวังของเรา

ฉันชูภาพคนนอนใต้เศษลังกระดาษในตรอกสลัวๆขึ้น แล้วถามนักเรียนป. 6 ในชั้นเรียนรวีวันอาทิตย์ว่า “พวกเขาต้องการอะไร” คนหนึ่งตอบว่า “อาหาร” อีกคนตอบว่า “เงิน” เด็กชายคนหนึ่งตอบอย่างครุ่นคิดว่า “ที่ๆปลอดภัย” แล้วเด็กหญิงคนหนึ่งก็พูดขึ้นมาว่า “ความหวัง”

เธออธิบายว่า “ความหวังคือการคาดหวังว่าสิ่งดีๆจะเกิดขึ้น” ฉันพบว่าน่าสนใจที่เธอพูดถึงเรื่อง “การคาดหวัง” สิ่งดีๆเมื่อมีปัญหามากมาย ซึ่งการไม่คาดหวังสิ่งดีใดๆดูจะง่ายกว่า แต่ทว่าพระคัมภีร์พูดถึงความหวังในแบบเดียวกับนักเรียนของฉัน หาก “ความเชื่อคือความแน่ใจในสิ่งที่เราหวังไว้” (ฮบ.11:1) เราผู้ที่มีความเชื่อในพระเยซู สามารถ คาดหวังสิ่งดีที่จะเกิดขึ้นได้

อะไรคือสิ่งดีที่สุดที่ผู้เชื่อในพระคริสต์จะหวังได้ด้วยความมั่นใจ นั่นก็คือ “พระสัญญา…ว่าจะให้เราเข้าสู่การหยุดพักของพระองค์” (4:1 THSV 11) สำหรับผู้เชื่อการหยุดพักที่มาจากพระเจ้านั้นรวมไปถึงสันติสุขจากพระองค์ ความมั่นใจในความรอด การไว้วางใจในกำลังของพระองค์และการรับรองถึงบ้านในอนาคตบนสวรรค์ การรับประกันของพระเจ้าและความรอดที่พระเยซูประทานคือสาเหตุที่ทำให้ความหวังนั้นเป็นเหมือนสมอที่เรายึดมั่นไว้ได้ในเวลาที่จำเป็น (6:18-20) โลกนี้ต้องการความหวัง ซึ่งก็คือความจริงและการรับรองอย่างหนักแน่นของพระเจ้าว่า ทั้งในยามดีหรือยามร้ายพระองค์จะเป็นผู้ตัดสินในท้ายที่สุดและจะไม่ทำให้เราผิดหวัง เมื่อเราวางใจในพระองค์ เรารู้ว่าพระองค์จะทรงทำให้ทุกสิ่งถูกต้องในเวลาของพระองค์

ปล่อยวาง

เจ้าของร้านหนังสือที่คีธทำงานอยู่เพิ่งจะไปพักร้อนได้เพียงสองวัน แต่คีธซึ่งเป็นผู้ช่วยของเขาก็ตื่นตระหนกเสียแล้ว งานดำเนินไปอย่างราบรื่น แต่คีธวิตกว่าตนจะดูแลร้านได้ไม่ดี เขาจึงลนลานเข้าไปจัดการในรายละเอียดยิบย่อยทุกอย่างเท่าที่ทำได้

“หยุดเลย” เจ้านายบอกเขาผ่านวิดีโอคอลในที่สุด “สิ่งที่คุณต้องทำคือทำตามคำแนะนำที่ผมส่งอีเมลถึงคุณทุกวัน ไม่ต้องกังวลคีธ ภาระไม่ได้อยู่ที่คุณ แต่อยู่ที่ผม”

ในช่วงเวลาแห่งความขัดแย้งกับนานาประเทศ อิสราเอลได้รับถ้อยคำคล้ายคลึงกันจากพระเจ้า “จงนิ่งเสีย” (สดด.46:10) “หยุดดิ้นรน” พระองค์ตรัสใจความสำคัญว่า “จงทำตามเราที่บอก เราจะต่อสู้แทนเจ้า” อิสราเอลไม่ได้ถูกบอกให้อยู่เฉยๆ หรือพึงพอใจกับสถานการณ์ แต่ให้นิ่งสงบด้วยความตื่นตัว โดยเชื่อฟังพระเจ้าอย่างสัตย์ซื่อในขณะที่ปล่อยวางการควบคุมสถานการณ์และละผลแห่งความพยายามของพวกเขาไว้กับพระองค์

เราก็ถูกเรียกให้ทำเช่นเดียวกัน และเราทำได้เพราะพระเจ้าที่เราไว้วางใจนั้นทรงอำนาจอธิปไตยสูงสุดเหนือโลกนี้ หาก “พระองค์เปล่งพระสุรเสียง แผ่นดินโลกก็ละลายไป” และหากพระองค์ทรงให้ “สงครามสงบถึงที่สุดปลายแผ่นดินโลก” (ข้อ 6, 9) ได้นั้น แน่ทีเดียวเราก็สามารถวางใจในความมั่นคงปลอดภัยของพระองค์ผู้ทรงเป็นที่ลี้ภัยและเป็นกำลังของเรา (ข้อ 1) ภาระในการควบคุมชีวิตของเราไม่ได้อยู่ที่ตัวเรา แต่อยู่ที่พระเจ้า

เมื่อคุณเหน็ดเหนื่อย

ฉันนั่งอยู่ในความเงียบหลังเลิกงาน คอมพิวเตอร์วางอยู่ตรงหน้าฉัน ฉันควรจะยินดีกับงานที่ฉันทำเสร็จในวันนั้น แต่ไม่เลย ฉันเหนื่อย ไหล่ของฉันปวดเมื่อยจากความวิตกกังวลเรื่องปัญหาในที่ทำงาน และความคิดของฉันก็หมดไปกับการคิดเรื่องความสัมพันธ์ที่มีปัญหา ฉันอยากจะหนีให้พ้นจากทุกสิ่ง ฉันจึงคิดว่าคืนนั้นจะดูทีวี

แต่ฉันหลับตาลงและพึมพำว่า “พระเจ้าข้า” ฉันเหนื่อยเกินกว่าจะพูดอะไรอีก ความอ่อนล้าทั้งหมดของฉันกลั่นออกมาเป็นคำนั้นเพียงคำเดียว และด้วยเหตุผลบางอย่าง ฉันรู้ในทันทีว่าฉันควรจะเข้ามาหาพระองค์

พระเยซูทรงบอกเราผู้เหน็ดเหนื่อยและแบกภาระหนักว่า “จงมาหาเราและเราจะให้ท่านทั้งหลายหายเหนื่อยเป็นสุข” (มธ.11:28) ไม่ใช่การพักโดยการนอนหลับสนิท ไม่ใช่การหลบลี้หนีจากความจริงที่โทรทัศน์มอบแก่เรา ไม่ใช่แม้แต่ความผ่อนคลายเมื่อปัญหาได้รับการแก้ไข แม้สิ่งเหล่านี้จะเป็นแหล่งแห่งการพักผ่อนที่ดี แต่การบรรเทาที่สิ่งเหล่านี้มอบให้นั้นคงอยู่เพียงชั่วคราวและเปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์

ในทางตรงกันข้าม การพักที่พระเยซูประทานให้นั้นยั่งยืนและรับประกันโดยพระลักษณะที่ไม่เปลี่ยนแปลงของพระองค์ พระองค์ทรงดีเสมอ พระองค์ประทานให้จิตวิญญาณของเราได้พักอย่างแท้จริงแม้ในท่ามกลางปัญหาเพราะเรารู้ว่าทุกสิ่งอยู่ภายใต้การควบคุมของพระองค์ เราสามารถไว้วางใจและยอมจำนนต่อพระองค์ อดทนและเกิดผลแม้ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก ด้วยกำลังและการฟื้นฟูที่พระองค์เพียงผู้เดียวสามารถประทานให้ได้

“จงมาหาเรา” พระเยซูตรัสแก่เราว่า “จงมาหาเรา”

เป้าหมายของฉันคืออะไร

“ผมรู้สึกว่าตัวเองไร้ประโยชน์” ฮาโรลด์กล่าว “เป็นพ่อม่ายที่เกษียณแล้วและลูกๆต่างก็ยุ่งกับครอบครัวของตัวเอง ผมใช้เวลายามบ่ายที่เงียบสงัดนั่งดูเงาบนกำแพง” เขามักจะบอกลูกสาวว่า “พ่อแก่แล้วและใช้ชีวิตมาอย่างคุ้มค่า พ่อไม่มีเป้าหมายอะไรอีกต่อไป พระเจ้าจะมารับพ่อไปเมื่อไหร่ก็ได้”

แต่การสนทนาในบ่ายวันหนึ่งได้เปลี่ยนความคิดของฮาโรลด์ “เพื่อนบ้านของผมมีปัญหากับลูกๆผมจึงอธิษฐานเผื่อเขา” ฮาโรลด์กล่าว “ผมได้แบ่งปันพระกิตติคุณกับเขาในเวลาต่อมา และสิ่งนั้นทำให้ผมตระหนักว่าชีวิตของผมยังมีเป้าหมาย! ตราบที่ยังมีคนไม่เคยได้ยินเรื่องราวของพระเยซู ผมต้องบอกพวกเขาในเรื่องพระผู้ช่วยให้รอด”

เมื่อฮาโรลด์ใช้เวลาที่ได้พบปะกันเป็นปกติประจำทุกวันนั้นด้วยการแบ่งปันความเชื่อ ชีวิตของเพื่อนบ้านก็เปลี่ยนไป ใน 2 ทิโมธี 1 อัครทูตเปาโลกล่าวถึงผู้หญิงสองคนที่พระเจ้าทรงใช้ในลักษณะเดียวกันนี้เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิตของคนๆหนึ่ง นั่นคือชีวิตของทิโมธีเพื่อนร่วมงานรุ่นน้องของเปาโล โลอิสยายของทิโมธีและยูนิสมารดาของเขาได้ส่งต่อ “ความเชื่ออย่างจริงใจ” มายังทิโมธี (ข้อ 5) โดยผ่านเหตุการณ์ในชีวิตประจำวันของครอบครัวธรรมดาๆครอบครัวหนึ่ง หนุ่มน้อยทิโมธีได้เรียนรู้จักความเชื่อที่แท้จริงซึ่งช่วยหล่อหลอมให้เขาเติบโตขึ้นมาเป็นสาวกที่ซื่อสัตย์ของพระเยซู และรับใช้ในฐานะผู้นำของคริสตจักรเมืองเอเฟซัสในที่สุด

ไม่ว่าเราจะมีอายุ ภูมิหลัง หรืออยู่ในสถานการณ์เช่นไร เราต่างมีเป้าหมายนั่นคือการบอกผู้อื่นเรื่องพระเยซู

เมื่อคุณโดดเดี่ยว

ตอนเวลาหนึ่งทุ่ม ฮุยเหลียงกำลังรับประทานข้าวกับลูกชิ้นปลาที่เหลืออยู่ในห้องครัว ในอพาร์ตเมนท์ห้องข้างๆของครอบครัวฉั่วก็กำลังรับประทานอาหารเย็นเช่นกัน เสียงหัวเราะและเสียงพูดคุยของพวกเขาดังทะลุความเงียบในห้องที่ฮุยเหลียงอาศัยอยู่ตามลำพังหลังจากภรรยาของเขาเสียชีวิตไป หลายปีที่ผ่านมาเขาเรียนรู้ที่จะอยู่กับความเหงา ความรู้สึกเจ็บเหมือนถูกทิ่มแทงกลับกลายเป็นความปวดร้าวอยู่ลึกๆ แต่ในคืนนี้ภาพของชามข้าวหนึ่งใบและตะเกียบหนึ่งคู่บนโต๊ะอาหารทิ่มแทงลึกลงไปในใจของเขา

ก่อนจะเข้านอนในคืนนั้น ฮุยเหลียงอ่านสดุดี 23 ซึ่งเป็นตอนที่เขาโปรดปราน ถ้อยคำที่มีความหมายกับเขามากที่สุดคือประโยคที่ว่า “พระองค์ทรงสถิตกับข้าพระองค์” (ข้อ 4) สิ่งที่ทำให้ฮุยเหลียงมีสันติสุขไม่ใช่เพียงแค่การกระทำที่เอาใจใส่ดูแลของผู้เลี้ยงแกะ แต่เป็นการอยู่ด้วยเสมอและการเฝ้ามองรายละเอียดทุกอย่างในชีวิตของแกะนั้นด้วยความรัก (ข้อ 2-5)

การเพียงแค่รู้ว่ามีใครคนหนึ่งอยู่ที่นั่นกับเราทำให้เกิดความอบอุ่นใจในช่วงเวลาแห่งความเหงา พระเจ้าทรงสัญญากับลูกของพระองค์ว่าความรักของพระองค์จะดำรงอยู่กับเราตลอดนิรันดร์กาล (สดด.103:17) และจะไม่ทรงทอดทิ้งเราเลย (ฮบ.13:5) เมื่อเรารู้สึกเหงาและไม่มีใคร ไม่ว่าจะอยู่ในห้องครัวที่เงียบเชียบ หรือบนรถบัสจากที่ทำงานกลับบ้าน หรือแม้แต่ในซูเปอร์มาร์เก็ตที่ผู้คนแออัด เรารับรู้ได้ว่าสายพระเนตรของพระเจ้าองค์พระผู้เลี้ยงของเรามองมาที่เราเสมอ เราสามารถพูดได้ว่า “พระองค์ทรงสถิตกับข้าพระองค์”

รวบรวมบรรดาประชาชาติ

พรมแดนระหว่างประเทศที่ยาวที่สุดในโลกคือระหว่างสหรัฐอเมริกาและแคนาดา ซึ่งทอดยาวทั้งทางบกและทางน้ำเป็นระยะทาง 8,892 กิโลเมตร คนงานจะตัดต้นไม้ที่อยู่ในระยะสิบฟุตจากพรมแดนทั้งสองฝั่งเป็นประจำเพื่อไม่ให้เกิดการเข้าใจผิด เส้นพรมแดนที่ทอดยาวบนผืนดินว่างเปล่านี้มีชื่อว่า“เดอะสแลช” มีก้อนหินมากกว่าแปดพันก้อนวางระบุตำแหน่ง เพื่อนักท่องเที่ยวจะรู้ว่าเส้นแบ่งเขตแดนอยู่ตรงไหน

การถางป่าในพื้นที่บริเวณ “เดอะสแลช” แสดงถึงการแบ่งเขตการปกครองและวัฒนธรรมที่ชัดเจน ในฐานะผู้เชื่อในพระเยซู เรารอคอยเวลาที่พระเจ้าจะทรงรื้อถอนสิ่งนี้และรวบรวมบรรดาประชาชาติทั่วโลกมาอยู่ภายใต้การปกครองของพระองค์ ผู้เผยพระวจนะอิสยาห์กล่าวถึงอนาคตที่พระนิเวศของพระองค์จะถูกสถาปนาและถูกยกขึ้น (อสย.2:2) ชนชาติทั้งหลายจะรวมตัวกันเพื่อเรียนรู้วิถีของพระเจ้าและ “เดินในมรรคาของพระองค์” (ข้อ 3) เราจะไม่พึ่งพาความพยายามอันล้มเหลวของมนุษย์ในการรักษาสันติภาพอีกต่อไป พระเจ้าจอมกษัตริย์ผู้เที่ยงแท้ของเราจะทรงวินิจฉัยระหว่างประชาชาติทั้งหลาย และยุติข้อพิพาททั้งมวล (ข้อ 4)

คุณจินตนาการถึงโลกที่ปราศจากการแบ่งแยกและความขัดแย้งออกหรือไม่ นั่นคือสิ่งที่พระเจ้าทรงสัญญาว่าจะนำมา! เราสามารถ “ดำเนินในสว่างของพระเจ้า” (ข้อ 5) โดยไม่ต้องคำนึงถึงความแตกแยกรอบตัว และเลือกที่จะถวายความจงรักภักดีของเราแด่พระองค์ในตอนนี้ เรารู้ว่าพระเจ้าทรงครอบครองเหนือสรรพสิ่ง และวันหนึ่งพระองค์จะทรงรวบรวมประชากรของพระองค์ไว้ภายใต้การปกครองเดียวกัน

พระองค์ทรงได้ยินคุณ

ตำราฟิสิกส์ซึ่งเขียนโดยชาร์ล ริบอร์ก มานน์และจอร์ช แรนซัม ทวิสส์ตั้งคำถามว่า “เมื่อต้นไม้ต้นหนึ่งโค่นล้มในป่าที่ห่างไกลผู้คน และไม่มีสัตว์อยู่ใกล้ที่จะได้ยิน มันส่งเสียงหรือไม่” ตลอดหลายปีที่ผ่านมา คำถามนี้ทำให้เกิดการอภิปรายทางปรัชญาและวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับเสียง การรับรู้ และการดำรงอยู่ ทว่ายังไม่มีคำตอบที่สมบูรณ์ที่สุด

คืนหนึ่งในขณะที่ฉันรู้สึกโดดเดี่ยวและเศร้าใจกับปัญหาที่ไม่ได้เล่าให้ใครฟัง ฉันก็นึกถึงคำถามนี้ เมื่อไม่มีใครได้ยินเสียงร้องขอความช่วยเหลือ พระเจ้าทรงได้ยินไหมขณะเผชิญความตายที่คุกคามและรู้สึกอ่อนกำลังเพราะความทุกข์ใจ ผู้เขียนสดุดี 116 อาจรู้สึกถูกทอดทิ้ง ท่านจึงร้องทูลพระเจ้าโดยรู้ว่าพระองค์ทรงสดับฟังและจะทรงช่วยท่าน ผู้ประพันธ์เพลงสดุดีบันทึกว่า “พระองค์ทรงฟังเสียงและคำวิงวอนของข้าพเจ้า...พระองค์ทรงเงี่ยพระกรรณฟังข้าพเจ้า” (ข้อ 1-2) ในยามที่ไม่มีใครรู้ถึงความเจ็บปวดของเรานั้น พระเจ้าทรงรู้ เมื่อไม่มีใครได้ยินเสียงร้องของเรา พระเจ้าทรงได้ยิน

การรู้ว่าพระเจ้าจะทรงสำแดงความรักของพระองค์และปกป้องเรา (ข้อ5-6) เราจึงพักสงบได้ในยามยากลำบาก (ข้อ 7) คำภาษาฮีบรูที่แปลว่า “ที่พัก” (manoakh) บรรยายถึงสถานที่ที่เงียบสงบและปลอดภัย เราจึงปราศจากความกังวลและเข้มแข็งขึ้นได้ โดยมั่นใจในการทรงสถิตและความช่วยเหลือจากพระเจ้า

คำถามที่ตั้งโดยมานน์และทวิสส์นำไปสู่คำตอบมากมาย แต่คำถามที่ว่า พระเจ้าทรงได้ยินไหม นั้นตอบได้ง่ายดายว่า แน่นอนพระองค์ทรงได้ยิน

ชีวิตนิรันดร์

“อย่ากลัวความตายเลยวินนีย์” แองกัส ทัคกล่าว “จงกลัวชีวิตที่มิได้ใช้ให้เกิดประโยชน์เถิด” คำกล่าวจากหนังสือที่กลายมาเป็นภาพยนตร์เรื่อง ชั่วนิรันดร์ นี้ยิ่งน่าสนใจมากขึ้นเมื่อออกมาจากตัวละครที่เป็นอมตะ ในเรื่องนั้นครอบครัวของทัคกลายเป็นอมตะ เด็กหนุ่มเจมส์ ทัคผู้ตกหลุมรักกับวินนีย์ได้ร้องขอให้เธอกลายเป็นอมตะด้วยเพื่อพวกเขาจะได้อยู่ด้วยกันตลอดไป แต่แองกัสผู้ฉลาดเข้าใจว่าการแค่อยู่เป็นอมตะนั้นไม่นำมาซึ่งการเติมเต็ม

วัฒนธรรมของเราบอกกับเราว่า ถ้าเรามีสุขภาพดี เยาว์วัย และกระปรี้กระเปร่าไปตลอด เราก็จะมีความสุขอย่างแท้จริง แต่นั่นไม่ใช่ที่ซึ่งเราจะพบการเติมเต็ม ก่อนที่พระเยซูจะไปยังกางเขน พระองค์อธิษฐานเผื่อสาวกของพระองค์และผู้เชื่อในอนาคต ตรัสว่า “และนี่แหละคือชีวิตนิรันดร์ คือที่เขารู้จักพระองค์ ผู้ทรงเป็นพระเจ้าเที่ยงแท้องค์เดียว และรู้จักพระเยซูคริสต์ที่พระองค์ทรงใช้มา” (ยน.17:3) ชีวิตที่ได้รับการเติมเต็มของเรานั้นมาจากความสัมพันธ์กับพระเจ้าผ่านความเชื่อในพระเยซู พระองค์คือความหวังสำหรับอนาคตและความชื่นชมยินดีสำหรับปัจจุบัน

พระเยซูอธิษฐานเผื่อที่สาวกของพระองค์จะใช้ชีวิตในรูปแบบใหม่ ที่พวกเขาจะปฏิบัติตามพระดำรัสของพระเจ้า (ข้อ 6) เชื่อว่าพระเยซูมาจากพระเจ้าพระบิดา (ข้อ 8) และเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน (ข้อ 11) ในฐานะผู้เชื่อในพระคริสต์ เรารอคอยชีวิตนิรันดร์ในอนาคตร่วมกับพระองค์ แต่ขณะที่เราใช้ชีวิตอยู่ในโลกนี้ เราสามารถมีชีวิตที่ “ครบบริบูรณ์” (10:10) อย่างที่พระองค์ทรงสัญญาได้ ณ ที่นี่ ในตอนนี้

เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ หากท่านใช้บริการเว็บไซต์นี้ต่อไป นั่นเป็นการแสดงว่าท่านยอมรับ นโยบายการใช้คุกกี้ของเรา