ผู้เขียน

ดูทั้งหมด

บทความ โดย Bill Crowder

กรุณาอยู่เงียบๆ

กรีนแบงก์ในรัฐเวสต์เวอร์จิเนียเป็นชุมชนเล็กๆบนเทือกเขาแอปปาลาเชียนที่ขรุขระ เมืองนี้มีข้อยกเว้นที่สำคัญประการหนึ่ง ซึ่งคล้ายกับเมืองเล็กๆ อีกหลายสิบเมืองที่อยู่ในบริเวณใกล้กัน คือชาวเมืองทั้ง 142 คนที่อาศัยอยู่ในเมืองจะไม่สามารถเข้าถึงสัญญาณไวไฟได้ ทั้งนี้เพื่อป้องกันคลื่นรบกวนจากสัญญาณไวไฟ หรือเสาสัญญาณโทรศัพท์มือถือใกล้กับหอสังเกตการณ์กรีนแบงก์ ซึ่งมีกล้องโทรทรรศน์ที่หันตรงไปยังท้องฟ้า ด้วยเหตุนี้กรีนแบงก์จึงเป็นหนึ่งในสถานที่ที่ปลอดเทคโนโลยีมากที่สุดในอเมริกาเหนือ

บางครั้งความเงียบคือสภาพแวดล้อมที่ดีที่สุดสำหรับการก้าวไปข้างหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในความสัมพันธ์ของเรากับพระเจ้า พระเยซูเองทรงวางแบบอย่างในเรื่องนี้โดยการออกไปยังที่เปลี่ยวและเงียบสงบเพื่อพูดคุยกับพระบิดา ในลูกา 5:16 (TNCV) เราพบว่า “พระเยซูมักจะทรงปลีกตัวไปอยู่ในที่สงบและอธิษฐาน” คำสำคัญในข้อนี้อาจจะอยู่ที่คำว่า มักจะ นี่เป็นสิ่งที่พระคริสต์ทำเป็นประจำ และเป็นตัวอย่างที่สมบูรณ์แบบสำหรับเรา หากพระผู้สร้างจักรวาลยังตระหนักถึงความสำคัญของการพึ่งพาพระบิดา เราจะยิ่งต้องการพระองค์มากสักเพียงใด!

การออกไปยังสถานที่ที่เงียบสงบเพื่อรับกำลังที่สดใหม่ท่ามกลางการทรงสถิตของพระเจ้าจะช่วยเตรียมเราให้ก้าวไปข้างหน้าด้วยกำลังใหม่จากพระองค์ วันนี้คุณจะพบสถานที่เช่นนี้ได้ที่ไหนบ้าง

รำลึกถึงการเสียสละ

หลังการนมัสการในเช้าวันอาทิตย์ เจ้าของบ้านที่ผมไปพักในกรุงมอสโกพาผมไปรับประทานอาหารกลางวันที่ร้านอาหารนอกป้อมปราการเครมลิน เมื่อไปถึง เราสังเกตเห็นคู่บ่าวสาวในชุดแต่งงานกำลังเดินไปที่สุสานทหารนิรนามที่นอกกำแพงเครมลิน พวกเขาตั้งใจให้ความสุขในวันแต่งงานของพวกเขามีการรำลึกถึงการเสียสละของผู้ที่ช่วยทำให้พวกเขามีวันนี้ได้ ภาพคู่แต่งงานถ่ายรูปข้างหลุมศพก่อนจะวางช่อดอกไม้ไว้ที่ฐานหลุมศพเป็นภาพที่หดหู่

เราทุกคนมีเหตุผลที่จะขอบคุณผู้อื่นที่ได้เสียสละเพื่อนำความสมบูรณ์มาสู่ชีวิตของพวกเรา ไม่มีการเสียสละใดที่ไม่สำคัญ แต่การเสียสละเหล่านั้นก็ไม่ได้สำคัญที่สุด มีเพียงที่โคนกางเขนเท่านั้นที่เราได้เห็นการทรงเสียสละที่พระเยซูทรงทำเพื่อเรา และเริ่มเข้าใจว่าชีวิตของเราเป็นหนี้องค์พระผู้ช่วยให้รอดอย่างมากมายเพียงใด

การมาร่วมโต๊ะขององค์พระผู้เป็นเจ้าเพื่อรับมหาสนิท ทำให้เราระลึกถึงการทรงเสียสละของพระเยซูโดยการรับขนมปังและเหล้าองุ่น เปาโลบันทึกไว้ว่า “เพราะว่าเมื่อท่านทั้งหลายกินขนมปังนี้และดื่มจากถ้วยนี้เวลาใด ท่านก็ประกาศการวายพระชนม์ขององค์พระผู้เป็นเจ้า จนกว่าพระองค์จะเสด็จมา” (1คร.11:26) ขอให้เวลาของเราที่โต๊ะขององค์พระผู้เป็นเจ้าเตือนเราให้ดำเนินชีวิตทุกวันในการรำลึกถึงและกตัญญู ต่อทุกสิ่งที่พระเยซูได้ทรงกระทำในเราและเพื่อเรา

บอกเล่าเรื่องราว

โรเบิร์ต ท็อดด์ ลินคอล์น บุตรชายของอับราฮัม ลินคอล์นประธานาธิบดีสหรัฐ ได้ปรากฏตัวในเหตุการณ์สำคัญสามครั้ง ได้แก่ มรณกรรมของบิดาตนเอง ตลอดจนการลอบสังหารประธานาธิบดีเจมส์ การ์ฟิลด์และวิลเลี่ยม แมคคินลีย์

แต่ให้เราพิจารณาถึงการที่อัครทูตยอห์นได้อยู่ในสี่เหตุการณ์สำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์ ได้แก่ อาหารมื้อสุดท้ายของพระเยซู การทนทุกข์ของพระคริสต์ในสวนเกทเสมนี การตรึงกางเขนและการเป็นขึ้นของพระองค์ ยอห์นรู้ดีว่าทำไม ท่านจึงร่วมอยู่ในช่วงเวลาเหล่านี้ เหตุผลเบื้องหลังที่สำคัญที่สุด คือเพื่อเป็นพยานถึงเหตุการณ์นี้ ในยอห์น 21:24 ท่านบันทึกว่า “สาวกคนนี้แหละที่เป็นพยานถึงเหตุการณ์เหล่านี้และเป็นผู้ที่บันทึกสิ่งเหล่านี้ไว้ และเราทราบว่าคำพยานของเขาเป็นความจริง”

ยอห์นยืนยันเรื่องนี้อีกครั้งในจดหมาย 1 ยอห์น “ซึ่งมีตั้งแต่ปฐมกาล ซึ่งเราได้ยิน ซึ่งเราได้เห็นกับตา ซึ่งเราได้พินิจดู และจับต้องด้วยมือของเรานั้นเกี่ยวกับพระวาทะแห่งชีวิต” (1:1) ทำไมยอห์นจึงรู้สึกว่าเป็นหน้าที่ของท่านที่ต้องบอกเล่าเรื่องราวของพระเยซูที่ท่านได้เป็นประจักษ์พยาน “ซึ่งเราได้เห็นและได้ยินนั้น เราก็ได้ประกาศให้ท่านทั้งหลายรู้ด้วย” ท่านกล่าวว่า “เพื่อท่านจะได้ร่วมสามัคคีธรรมกับเรา” (ข้อ 3)

เหตุการณ์ในชีวิตเราอาจเป็นเรื่องไม่คาดคิดหรือเป็นเรื่องธรรมดา แต่ไม่ว่ากรณีใด พระเจ้าได้ทรงจัดเตรียมเหตุการณ์เหล่านั้นเพื่อให้เราเป็นพยานถึงพระองค์ เมื่อเราพักสงบในพระคุณและพระปัญญาของพระคริสต์ ขอให้เราพูดแทนพระองค์แม้ในช่วงเวลาแห่งชีวิตที่ไม่คาดคิด

ระฆังโบสถ์หินบลูสโตน

บลูสโตนเป็นหินที่มีเสน่ห์หลากหลาย เมื่อถูกเคาะ หินบลูสโตนบางก้อนจะดังเหมือนเสียงดนตรี หมู่บ้านหนึ่งในแคว้นเวลส์ชื่อมายน์คล็อกฮ็อกซึ่งแปลว่า “ระฆัง” หรือ “หินที่ส่งเสียง” ได้ใช้หินบลูสโตนทำระฆังโบสถ์มาจนถึงยุคศตวรรษที่ 18 ที่น่าสนใจคือซากปรักหักพังของสโตนเฮนจ์ที่อังกฤษก็ถูกสร้างด้วยหินบลูสโตน ซึ่งทำให้บางคนสงสัยว่าวัตถุประสงค์ดั้งเดิมของที่แห่งนี้อาจเกี่ยวข้องกับดนตรี นักวิจัยบางคนอ้างว่าหินบลูสโตนที่สโตนเฮนจ์มาจากแหล่งที่อยู่ใกล้มายน์คล็อกฮ็อก ซึ่งอยู่ห่างออกไปเกือบสามร้อยกิโลเมตรเพราะเอกลักษณ์ทางเสียงของหินเหล่านั้น

หินที่เป็นเสียงดนตรีนี้คืออีกหนึ่งสิ่งของการทรงสร้างที่แสนอัศจรรย์ของพระเจ้า และมันเตือนพวกเราถึงสิ่งที่พระเยซูตรัสระหว่างการเสด็จเข้าสู่กรุงเยรูซาเล็มในวันอาทิตย์ทางตาล ขณะที่ประชาชนส่งเสียงสรรเสริญพระเยซูเหล่าผู้นำทางศาสนาเรียกร้องให้พระองค์สั่งห้ามพวกเขา “เราบอกท่านทั้งหลายว่า” พระองค์ตรัสตอบพวกเขา “ถึงคนเหล่านี้จะนิ่งเสีย ศิลาทั้งหลายก็ยังจะส่งเสียงร้อง” (ลก.19:40)

หากหินบลูสโตนสามารถสร้างเสียงดนตรี และหากพระเยซูทรงกล่าวว่าแม้แต่หินยังเป็นพยานถึงพระผู้ทรงสร้างมัน ถ้าเช่นนั้นเรายิ่งต้องสรรเสริญพระองค์ผู้ทรงสร้างเรา ผู้ทรงรักและช่วยกู้เราอย่างไร พระองค์ทรงควรค่าแก่การนมัสการทั้งสิ้น ขอพระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงเร้าใจเราให้ถวายพระเกียรติที่พระองค์ทรงสมควรได้รับแด่พระองค์ ให้ทุกสิ่งที่พระองค์ทรงสร้างสรรเสริญพระองค์

มิตรและศัตรู

นักวิชาการเคนเน็ธ อี. เบลีย์ กล่าวถึงผู้นำของชาติแอฟริกาคนหนึ่งที่เรียนรู้การรักษาท่าทีที่ไม่ธรรมดาระหว่างประชาคมโลก เขาได้วางรากฐานความสัมพันธ์อันดีกับอิสราเอลและประเทศโดยรอบ เมื่อมีคนถามว่าเขารักษาสมดุลของความสัมพันธ์ที่เปราะบางนี้ไว้ได้อย่างไร เขาตอบว่า “เราเลือกเพื่อนของเรา เราไม่สนับสนุนให้เพื่อนของเรามากำหนดว่าใครจะเป็นศัตรูของเรา”

นั่นเป็นเรื่องที่ฉลาดและปฏิบัติได้จริง สิ่งที่ชาติในแอฟริกาแห่งนั้นได้วางแบบอย่างในระดับสากล คือสิ่งที่เปาโลหนุนใจให้ผู้อ่านจดหมายของท่านทำในระดับบุคคล ในบรรดาคำอธิบายที่ยืดยาวเกี่ยวกับคุณลักษณะของชีวิตที่ได้รับการเปลี่ยนแปลงโดยพระคริสต์ ท่านเขียนว่า “ถ้าเป็นได้ คือเท่าที่เรื่องขึ้นอยู่กับท่าน จงอยู่อย่างสงบสุขกับทุกคน” (รม.12:18) ท่านยังเน้นย้ำถึงความสำคัญของการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น โดยเตือนเราว่าแม้แต่วิธีที่เราปฏิบัติตัวต่อศัตรู(ข้อ 20-21) ก็สะท้อนถึงความไว้วางใจและการพึ่งพิงในพระเจ้า และการทรงดูแลของพระองค์

การอยู่อย่างสงบสุขกับทุกคนอาจไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปได้เสมอไป (จริงๆแล้ว เปาโลได้กล่าวว่า “ถ้า”) แต่ความรับผิดชอบของเราในฐานะผู้เชื่อในพระเยซูคือ การยอมให้พระปัญญาของพระเจ้าทรงนำการดำเนินชีวิตของเรา (ยก.3:17-18) เพื่อให้เราอยู่ร่วมกับคนรอบข้างในฐานะผู้สร้างสันติ (มธ.5:9) จะมีวิธีอื่นใดที่ดีไปกว่านี้ในการถวายเกียรติแด่องค์สันติราช

ข้อมูลและหลักฐาน

เมื่อดอริส เคินส์ กู๊ดวินตัดสินใจเขียนหนังสือเกี่ยวกับอับราฮัม ลินคอล์นความจริงที่ว่ามีหนังสือกว่า 14,000 เล่มถูกเขียนขึ้นเกี่ยวกับประธานาธิบดีคนที่ 16 ของอเมริกาอยู่แล้วทำให้เธอรู้สึกกลัว จะมีอะไรเหลือให้เขียนเกี่ยวกับผู้นำอันเป็นที่รักคนนี้อีกล่ะ ด้วยความไม่ลดละ การทำงานของกู๊ดวินกลายมาเป็นหนังสือ ทีมคู่แข่ง: อัจฉริยะทางการเมืองของอับราฮัม ลินคอล์น แง่มุมใหม่ของเธอเกี่ยวกับรูปแบบการเป็นผู้นำของลินคอล์นทำให้หนังสือมียอดรีวิวและติดอันดับต้นๆ

อัครสาวกยอห์นเจอกับความท้าทายที่ต่างออกไปขณะที่ท่านบันทึกพระราชกิจและความรักอันร้อนรนของพระเยซู ประโยคสุดท้ายในพระธรรมยอห์นกล่าวว่า “มีอีกหลายสิ่งที่พระเยซูได้ทรงกระทำ ถ้าจะเขียนไว้ให้หมดทุกสิ่ง ข้าพเจ้าคาดว่าแม้หมดทั้งโลกก็น่าจะไม่พอไว้หนังสือที่จะเขียนนั้น” (ยน.21:25) ยอห์นมีข้อมูลมากเกินกว่าที่ท่านจะใช้หมด!

ดังนั้นยอห์นจึงใช้ยุทธวิธีที่เน้นแค่การอัศจรรย์ (หมายสำคัญ) เพียงไม่กี่อย่างซึ่งสนับสนุนสิ่งที่พระเยซูทรงบอกว่า “เราเป็น” ในตลอดหนังสือของท่าน แต่เบื้องหลังยุทธวิธีนี้ก็คือเป้าหมายนิรันดร์ที่ว่า “การที่ได้บันทึกเหตุการณ์เหล่านี้ไว้ ก็เพื่อท่านทั้งหลายจะได้เชื่อว่า พระเยซูทรงเป็นพระคริสต์พระบุตรของพระเจ้า และเมื่อมีความเชื่อแล้ว ท่านก็จะมีชีวิตโดยพระนามของพระองค์” (ข้อ 31) ด้วยหลักฐานจำนวนมากที่กองสูงเท่าภูเขา ยอห์นได้ให้เหตุผลเอาไว้มากมายที่จะเชื่อในพระเยซู แล้วคุณจะบอกใครถึงเรื่องราวของพระองค์ได้บ้างในวันนี้

ฝูงชน

นักปรัชญาและนักเขียนฮันนาห์ อาเรนท์ (1906-1975) ได้ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า “มนุษย์จะต่อต้านผู้ปกครองผู้มีอำนาจสูงสุด และปฏิเสธที่จะก้มหัวให้กับพวกเขา” เธอเสริมอีกว่า “แต่มีไม่กี่คนที่ต่อต้านฝูงชน ที่ยืนขึ้นเพียงลำพังต่อหน้ามวลชนที่หลงทาง เพื่อเผชิญหน้ากับความบ้าคลั่งอันแข็งกร้าวโดยปราศจากอาวุธ” ในฐานะคนยิว อาเรนท์ประสบกับเรื่องนี้ด้วยตนเองในเยอรมนีประเทศบ้านเกิดของเธอเอง การถูกปฏิเสธโดยฝูงชนเป็นสิ่งที่น่ากลัว

อัครทูตเปาโลพบกับการถูกปฏิเสธเช่นนั้นด้วย เพราะท่านถูกฝึกให้เป็นฟาริสีและรับบี ชีวิตของท่านจึงเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิงเมื่อได้พบกับพระเยซูผู้ฟื้นคืนพระชนม์ เปาโลได้เดินทางไปเมืองดามัสกัสเพื่อข่มเหงผู้เชื่อในพระคริสต์ (กจ.9) หลังจากกลับใจ ท่านพบว่าตนเองถูกปฏิเสธโดยคนชาติเดียวกัน ในจดหมายของท่านที่เรารู้จักในชื่อพระธรรม 2 โครินธ์ เปาโลได้พูดถึงความยากลำบากที่ต้องเผชิญด้วยน้ำมือของคนเหล่านั้น เช่น “การถูกเฆี่ยนตี” และ “การถูกจำคุก” (6:5)

แทนที่จะตอบโต้การถูกปฏิเสธนั้นด้วยความโกรธและความขมขื่น เปาโลปรารถนาให้พวกเขาได้มารู้จักพระเยซูเหมือนกับท่าน ท่านเขียนว่า “ข้าพเจ้า​มี​ความ​ทุกข์​หนัก​และ​ความ​เจ็บ​ร้อน​ใน​ใจ​เสมอ​มิได้​ขาด​ เพราะ​ถ้า​เป็น​ประโยชน์​ข้าพเจ้า​ปรารถนา​จะ​ให้​ข้าพเจ้า​เอง​ถูก​สาป และ​ถูก​ตัด​ขาด​จาก​พระ​คริสต์​เพราะ​เห็น​แก่​พี่​น้อง​ของ​ข้าพเจ้า” (รม.9:2-3)

ในขณะที่พระเจ้าทรงต้อนรับเราเข้าสู่ครอบครัวของพระองค์ ขอพระองค์ทรงช่วยให้เราสามารถเชิญชวนแม้แต่ศัตรูของเราให้เข้ามาในความสัมพันธ์กับพระองค์ด้วยเถิด

ฉันได้ยินเสียงระฆัง

บทเพลง “ฉันได้ยินเสียงระฆังในวันคริสต์มาส” มีที่มาจากบทกวีในปีค.ศ. 1863 โดยเฮนรี่ วอดสเวิร์ท ลองเฟลโลว์เป็นบทเพลงคริสต์มาสที่ไม่ธรรมดาเลย แทนที่จะเป็นความสุขยินดีทั่วไปในเทศกาลคริสต์มาส แต่เนื้อเพลงกลับแต่งขึ้นเป็นเสียงคร่ำครวญ ร้องว่า “และฉันคอตกด้วยความสิ้นหวัง ฉันพูดว่าไม่มีสันติใดเลยบนโลกนี้ เพราะความเกลียดชังนั้นรุนแรงและเย้ยหยันบทเพลงอื่น ที่บอกว่าสันติสุขจงมีแก่มวลมนุษย์บนโลกผู้ซึ่งพระองค์ทรงโปรดปราน” แต่การคร่ำครวญนี้กลับกลายเป็นความหวังที่ทำให้เรามั่นใจว่า “พระเจ้ามิได้ตายหรือหลับไป ความชั่วร้ายจะสิ้นไป ความชอบธรรมจะดำรงอยู่ ด้วยสันติสุขท่ามกลางมนุษย์ผู้ซึ่งพระองค์ทรงโปรดปราน”

รูปแบบของความหวังที่เกิดขึ้นมาจากการคร่ำครวญยังพบได้ในบทสดุดีแห่งการคร่ำครวญในพระคัมภีร์ เช่น สดุดี 43 เริ่มต้นด้วยผู้เขียนร้องทูลถึงการที่ถูกศัตรูโจมตี (ข้อ 1) และพระเจ้าผู้ทรงดูเหมือนว่าได้ลืมท่านไปแล้ว (ข้อ 2) แต่ผู้เขียนไม่จมอยู่กับการคร่ำครวญ ท่านมองหาพระเจ้าผู้ที่ท่านไม่สามารถเข้าใจพระองค์ได้ทั้งหมดแต่ยังไว้วางใจพระองค์ โดยร้องว่า “จิตวิญญาณของข้าพเจ้าเอ๋ย ไฉนเจ้าจึงฝ่ออยู่ ไฉนเจ้าจึงกระสับกระส่ายภายในข้าพเจ้า จงหวังใจในพระเจ้า เพราะข้าพเจ้าจะถวายสดุดีแด่พระองค์อีก ผู้ทรงเป็นความอุปถัมภ์ และพระเจ้าของข้าพเจ้า” (ข้อ 5)

ชีวิตเต็มไปด้วยเหตุผลที่จะคร่ำครวญ และเราทุกคนล้วนมีประสบการณ์นั้นอยู่ในทุกๆวัน แต่ถ้าเรายอมให้การคร่ำครวญนำเราไปสู่พระเจ้าแห่งความหวัง เราจะสามารถร้องเพลงได้ด้วยความยินดี แม้เราจะร้องทั้งน้ำตา

ชมรมโสกราตีส

ชมรมโสกราตีสก่อตั้งขึ้นที่มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ประเทศอังกฤษ ในปี 1941 เพื่อสนับสนุนการโต้วาทีระหว่างผู้เชื่อพระเยซูกับผู้ที่ไม่เชื่อว่ามีพระเจ้าหรือผู้ที่ไม่รู้ว่ามีพระเจ้าหรือไม่

การโต้เถียงเรื่องศาสนาในมหาวิทยาลัยทั่วไปไม่ใช่เรื่องแปลก แต่ที่น่าประหลาดใจ คือผู้ที่เป็นประธานชมรมโสกราตีสเป็นเวลาสิบห้าปีคือ ซี.เอส.ลูอิส นักวิชาการคริสเตียนผู้ยิ่งใหญ่ ลูอิสเต็มใจที่จะพิสูจน์ความคิดของตนโดยเชื่อว่าความเชื่อในพระคริสต์สามารถยืนหยัดต่อการตรวจสอบอย่างถี่ถ้วนได้ เขารู้ว่ามีข้อพิสูจน์ที่น่าเชื่อถือและมีเหตุผลในการเชื่อพระเยซู

ที่เป็นเช่นนี้เพราะลูอิสปฏิบัติตามคำแนะนำของเปโตรที่ย้ำเตือนผู้เชื่อที่กระจัดกระจายไปเพราะการข่มเหงว่า “แต่ในใจของท่าน จงเคารพนับถือพระคริสต์ว่าเป็นองค์พระผู้เป็นเจ้า จงเตรียมตัวไว้ให้พร้อมเสมอ เพื่อท่านจะสามารถตอบทุกคนที่ถามท่านว่า ท่านมีความหวังใจเช่นนี้ด้วยเหตุผลประการใด แต่จงตอบด้วยใจสุภาพและด้วยความนับถือ” (1 ปต.3:15) เปโตรให้หลักการสำคัญสองประการคือ เรามีเหตุผลที่ดีในการหวังใจในพระคริสต์ และเราต้องนำเสนอเหตุผลของเราด้วย “ใจสุภาพและด้วยความนับถือ”

การวางใจในพระคริสต์ไม่ใช่การหนีจากโลกไปพึ่งศาสนาหรือเป็นความคิดเพ้อฝัน ความเชื่อของเรามีรากฐานอยู่บนความจริงในประวัติศาสตร์ รวมถึงการฟื้นพระชนม์ของพระเยซูและการที่สรรพสิ่งทรงสร้างเป็นประจักษ์พยานถึงพระผู้สร้าง ขณะที่เราพักพิงในพระปัญญาของพระเจ้าและกำลังของพระวิญ-ญาณ ขอให้เราพร้อมแบ่งปันเหตุผลที่เรามีในการวางใจในพระเจ้าผู้ยิ่งใหญ่ของเรา

เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ หากท่านใช้บริการเว็บไซต์นี้ต่อไป นั่นเป็นการแสดงว่าท่านยอมรับ นโยบายการใช้คุกกี้ของเรา