ผู้เขียน

ดูทั้งหมด

บทความ โดย Alyson Kieda

หัวเราะเสียงดัง

นักแสดงตลกชื่อจอห์น แบรนยันกล่าวว่า “เราไม่ได้คิดค้นเสียงหัวเราะขึ้นมา นั่นไม่ใช่ความคิดของเรา เสียงหัวเราะนั้นเราได้มาจาก[พระเจ้า] ผู้ทรงรู้ว่าเราจะต้องใช้มันเพื่อให้ผ่านพ้นความยากลำบากในชีวิต [เพราะว่า]พระองค์ทรงรู้ว่าเราจะต้องพบกับความทุกข์ยาก พระองค์ทรงรู้ว่าเราจะต้องมีปัญหา พระองค์ทรงรู้...ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้น... เสียงหัวเราะคือของขวัญ”

สัตว์ต่างๆที่พระเจ้าทรงสร้างนั้นหากมองเผินๆอาจทำให้เราหัวเราะออกมา ไม่ว่าจะเป็นเพราะความแปลกประหลาด (เช่น ตุ่นปากเป็ด) หรือพฤติกรรม (เช่นตัวนากขี้เล่น) พระเจ้าทรงสร้างสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่อาศัยในมหาสมุทรและนกขายาวที่บินไม่ได้ เห็นได้ชัดว่าพระเจ้าทรงมีอารมณ์ขัน และเพราะเราถูกสร้างตามพระฉายของพระองค์ เราจึงมีความยินดีในเสียงหัวเราะด้วยเช่นกัน

เราเห็นคำว่าหัวเราะครั้งแรกในพระคัมภีร์จากเรื่องของอับราฮัมและซาราห์ ที่พระเจ้าสัญญาจะประทานลูกแก่สามีภรรยาสูงอายุคู่นี้ว่า “บุตรชายของเจ้าเองจะเป็นผู้รับมรดกของเจ้า” (ปฐก.15:4) และพระเจ้าตรัสว่า “มองดูฟ้า ถ้าเจ้านับดาวทั้งหลายได้ ก็นับไปเถิด...พงศ์พันธุ์ของเจ้าจะมากมายเช่นนั้น” (ข้อ 5) ในที่สุดเมื่อซาราห์ให้กำเนิดบุตรตอนอายุ 90 ปี อับราฮัมได้ตั้งชื่อบุตรชายว่าอิสอัค ซึ่งแปลว่า “เสียงหัวเราะ” ตามที่ซาราห์กล่าวว่า “พระเจ้าทรงกระทำให้ข้าพเจ้าหัวเราะ ทุกคนที่ได้ฟังจะพลอยหัวเราะด้วย” (21:6) เธอประหลาดใจที่เธอสามารถเลี้ยงลูกได้เมื่ออายุมากแล้ว! พระเจ้าได้ทรงเปลี่ยนเสียงหัวเราะแห่งความไม่เชื่อเมื่อเธอได้ยินว่าเธอจะมีบุตร (18:12) ให้เป็นเสียงหัวเราะแห่งความชื่นชมยินดีอย่างแท้จริง

ขอบพระคุณพระเจ้าสำหรับของขวัญแห่งเสียงหัวเราะ!

พระเจ้าทรงฟังอยู่

ชัคนักแสดงและนักศิลปะต่อสู้ป้องกันตัวได้ยกย่องผู้เป็นแม่ในวันเกิดครบรอบ 100 ปีของเธอ โดยแบ่งปันว่าเธอมีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลงฝ่ายวิญญาณของเขาอย่างไร เขาเขียนว่า “แม่เป็นแบบอย่างของความบากบั่นและความเชื่อ” แม่เลี้ยงดูลูกชายสามคนด้วยตัวเองในช่วงภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ ทนทุกข์กับความตายของคู่สมรสสองคน ลูกชาย ลูกติดสามีและหลานๆและยังต้องอดทนกับการผ่าตัดหลายครั้ง “[เธอ]อธิษฐานเผื่อผมมาตลอดชีวิตของผม ผ่านอุปสรรคปัญหาทุกอย่าง” เขากล่าวต่อว่า “ตอนที่ผมเกือบจะสูญเสียจิตวิญญาณไปในวงการฮอลลีวู้ด แต่เธอกลับมาบ้านอธิษฐานให้ผมประสบความสำเร็จและได้รับความรอด” เขาสรุปว่า “ผมขอบคุณ [แม่ของผม] ที่ช่วยพระเจ้าให้ทรงสร้างผมในทุกสิ่งที่ผมทำได้และควรจะเป็น”

คำอธิษฐานของแม่ช่วยให้ชัคพบความรอดและได้พบภรรยาที่รักพระเจ้าเธออธิษฐานอย่างกระตือรือร้นเพื่อลูกชายและพระเจ้าทรงฟังคำอธิษฐานของเธอ เราไม่ได้รับคำตอบในแบบที่เราต้องการเสมอ ดังนั้นเราจึงไม่อาจใช้การอธิษฐานให้เป็นเหมือนไม้กายสิทธิ์ที่จะเสกสิ่งต่างๆได้ แต่ยากอบรับรองกับเราว่า “คำอธิษฐานของผู้ชอบธรรมนั้นมีพลังทำให้เกิดผล” (5:16) เช่นเดียวกับคุณแม่ท่านนี้ เราต้องอธิษฐานเผื่อคนป่วยและคนที่มีปัญหาต่อไป (ข้อ 13-15) เมื่อเราสนทนากับพระเจ้าผ่านการอธิษฐานเหมือนกับเธอ เราจะพบการหนุนใจและสันติสุข ตลอดจนความมั่นใจว่าพระวิญญาณทรงกระทำกิจอยู่

มีบางคนในชีวิตของคุณต้องการความรอด การหายโรค หรือความช่วยเหลือไหม ทูลคำอธิษฐานของคุณต่อพระเจ้าด้วยความเชื่อ พระองค์ทรงฟังอยู่

จงพูดเรื่องพระเยซูต่อไป!

นักดนตรีที่เชื่อในพระคริสต์คนหนึ่ง ให้สัมภาษณ์ถึงช่วงเวลาที่เขามักถูกกดดันให้ “หยุดพูดเรื่องพระเยซู” เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น มีการให้ความเห็นว่าวงของเขาจะยิ่งโด่งดังและหาเงินได้มากขึ้นเพื่อนำมาเลี้ยงดูคนยากจน หากเขาเลิกพูดว่างานของเขาล้วนเกี่ยวข้องกับพระเยซู หลังไตร่ตรองดีแล้วเขาตัดสินใจว่า “วัตถุประสงค์ทั้งสิ้นในงานเพลงของผมก็คือการแบ่งปันความเชื่อในพระคริสต์...ไม่มีทาง(ที่ผม)จะเงียบ” เขาบอกว่า “ภาระใจอันร้อนรนของผม(คือ)การแบ่งปันเรื่องราวของพระเยซู”

ในสถานการณ์การข่มเหงที่ร้ายแรงยิ่งกว่า พวกอัครทูตได้รับข้อความเช่นเดียวกัน พวกเขาถูกจำคุกและได้รับการช่วยเหลืออย่างอัศจรรย์โดยทูตองค์หนึ่งซึ่งบอกพวกเขาให้ประกาศข้อความแห่งชีวิตใหม่ในพระคริสต์แก่ผู้อื่นต่อไป (กจ.5:19-20) เมื่อพวกผู้นำศาสนาทราบว่าพวกอัครทูตออกจากคุกไปได้และพวกเขายังคงประกาศข่าวประเสริฐอยู่ จึงต่อว่าพวกเขาว่า “เราได้กำชับพวกเจ้าอย่างแข็งแรงมิให้สอนออกชื่อ [พระเยซู] นี้” (ข้อ 28)

พวกเขาจึงตอบว่า “ข้าพเจ้าจำต้องเชื่อฟังพระเจ้ายิ่งกว่าเชื่อฟังมนุษย์” (ข้อ 29) ด้วยเหตุนี้พวกผู้นำจึงเฆี่ยนพวกอัครทูตและ “กำชับไม่ให้ออกพระนามของพระเยซู” (ข้อ 40) พวกอัครทูตยินดีที่เห็นว่าตนสมควรจะได้รับการทนทุกข์เพราะพระนามพระเยซู และ “ได้สั่งสอนและประกาศข่าวประเสริฐทุกๆวันมิได้ขาด” (ข้อ 42) ขอพระเจ้าทรงช่วยให้เรายังคงทำตามแบบอย่างของพวกเขาต่อไป!

ต่อสู้กับสิ่ง “ฉูดฉาด”

ในรายการ ดิแอนดี้กริฟฟิธโชว์ ทีวีซีรี่ย์ในยุค 1960 ชายคนหนึ่งบอกแอนดี้ว่า เขาควรปล่อยให้โอพีลูกชายตัดสินใจเองว่าอยากจะใช้ชีวิตอย่างไร แอนดี้ไม่เห็นด้วย “คุณไม่อาจปล่อยให้เด็กหนุ่มตัดสินใจด้วยตัวเองได้ เพราะเขาจะคว้าเอาสิ่งฉูดฉาดอันแรกที่ติดริบบิ้นแวววาวเอาไว้ และเมื่อเขาพบว่ามีข้อผูกมัดซ่อนอยู่ มันก็สายเกินไป ความคิดผิดๆมากมายมาพร้อมกับสีสันฉูดฉาดแวววาวซึ่งยากที่จะทำให้พวกเขาเชื่อว่าในระยะยาวอาจมีสิ่งอื่นที่ดีกว่า” เขาสรุปว่าสิ่งสำคัญสำหรับพ่อแม่คือ สร้างแบบอย่างพฤติกรรมที่ถูกต้องและช่วย “ขจัดสิ่งล่อลวงออกไป”

คำพูดของแอนดี้สอดคล้องกับสติปัญญาที่พบในพระธรรมสุภาษิต“จงฝึกเด็กในทางที่เขาควรจะเดินไป และเมื่อเขาเป็นผู้ใหญ่แล้วเขาจะไม่พรากจากทางนั้น” (22:6) แม้ว่าหลายคนอาจเข้าใจว่าถ้อยคำเหล่านี้เป็นคำสัญญา แต่จริงๆแล้วเป็นคำแนะนำสั่งสอน เราทุกคนถูกเรียกให้ตัดสินใจเชื่อในพระเยซูด้วยตนเอง แต่เราสามารถช่วยวางรากฐานจากพระวจนะโดยผ่านความรักที่เรามีต่อพระเจ้าและพระคัมภีร์ และเราอธิษฐานทูลขอได้ที่เด็กๆในการดูแลของเราเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่พวกเขาจะเลือกต้อนรับพระคริสต์เป็นพระผู้ช่วยให้รอด และเดินในทางของพระองค์ ไม่ใช่ “ในทางของคนตลบตะแลง” (ข้อ 5)

โดยการช่วยเหลือของพระวิญญาณบริสุทธิ์ ชัยชนะที่เรามีเหนือ “สิ่งฉูดฉาด” เป็นคำพยานที่มีพลังมากเช่นกัน พระวิญญาณของพระเยซูทรงช่วยเราที่จะต่อต้านการทดลอง และหล่อหลอมชีวิตของเราให้เป็นแบบอย่างที่ควรค่าแก่การเลียนแบบ

ความกรุณาเล็กน้อย

อแมนด้าทำงานเป็นพยาบาลเยี่ยมไข้ที่ต้องสับเปลี่ยนไปตามศูนย์ดูแลผู้สูงอายุหลายแห่ง เธอมักจะพารูบี้ลูกสาววัยสิบเอ็ดขวบไปทำงานด้วย รูบี้อยากหาอะไรทำจึงเริ่มถามผู้คนที่ศูนย์ว่า “ถ้าคุณสามารถขอสามสิ่ง คุณอยากได้อะไร” จากนั้นก็จดคำตอบของพวกเขาในสมุดของเธอ น่าประหลาดใจที่คำขอจำนวนมากคือสิ่งของเล็กน้อยอย่าง ไส้กรอกเวียนนา พายช็อกโกแลต ชีส และอโวคาโด รูบี้จึงเริ่มระดมทุนผ่านเว็บไซต์ GoFundMe เพื่อช่วยให้เธอเติมเต็มความปรารถนาอันเรียบง่ายของพวกเขา และเมื่อนำข้าวของไปมอบให้เธอจะกอดพวกเขา เธอพูดว่า “มันทำให้คุณรู้สึกดีขึ้นได้จริงๆ”

เมื่อเราสำแดงความเมตตาปรานีเหมือนรูบี้ เราก็สะท้อนให้เห็นถึงพระเจ้าของเราผู้ “ทรงพระเมตตากรุณา...และมีความรักมั่นคงอย่างอุดม” (สดด.145:8) นั่นเป็นเหตุให้อัครทูตเปาโลกำชับเราในฐานะประชากรของพระเจ้าว่า “จงสวมใจเมตตา ใจปรานี ใจถ่อม ใจอ่อนสุภาพ ใจอดทนไว้นาน” (คส.3:12) เพราะพระเจ้าทรงสำแดงพระกรุณาอันยิ่งใหญ่แก่เรา เราจึงมีใจปรารถนาจะแบ่งปันพระกรุณาของพระองค์แก่ผู้อื่น และเมื่อเราตั้งใจทำเช่นนั้น เราก็ “สวม” ตัวเราไว้ด้วยสิ่งนั้น

เปาโลบอกเราต่อว่า “แล้วจงสวมความรักทับสิ่งเหล่านี้ทั้งหมด เพราะความรักย่อมผูกพันทุกสิ่งไว้ให้ถึงซึ่งความสมบูรณ์” (ข้อ 14) ท่านเตือนว่าเราจะต้อง “กระทำทุกสิ่งในพระนามของพระเยซูเจ้า” (ข้อ 17) และระลึกว่าสิ่งดีทุกอย่างมาจากพระเจ้า เมื่อเราสำแดงความกรุณาปรานีต่อผู้อื่น จิตวิญญาณของเราก็ได้รับการยกชูขึ้น

โอกาสที่จะส่องสว่าง

ในเดือนมีนาคมปี 2020 ขณะกำลังพาสุนัขไปเดินเล่นที่สวนเซ็นทรัลพาร์คในนครนิวยอร์ก วิทนี่ย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินที่เกษียณแล้วมองเห็นรถบรรทุก กองผ้าใบ และเต็นท์สีขาวหลายหลัง สิ่งของเหล่านั้นมีรูปกางเขนและชื่อองค์กรการกุศลที่เขาไม่เคยได้ยินมาก่อน เมื่อพบว่าคนกลุ่มนี้กำลังสร้างโรงพยาบาลสนามเพื่อเพื่อนพ้องชาวนิวยอร์กที่ติดเชื้อโควิด 19 เขาจึงขอที่จะมีส่วนช่วยด้วย แม้มีความเชื่อและทัศนะทางการเมืองต่างกัน แต่เขาและครอบครัวก็เข้าร่วมในทุกที่ที่ทำได้เป็นเวลาหลายสัปดาห์ วิทนี่ย์กล่าวว่า “ทุกคนที่ผมได้พบเป็นคนดีจริงๆ” และเขาชื่นชมในความจริงที่ว่าไม่มีใครจ้างคนเหล่านั้นให้ “ช่วยเมืองของผมในยามที่เราต้องการอย่างสุดซึ้ง”

เพื่อตอบสนองความต้องการมหาศาลที่เกิดจากการระบาดใหญ่ของไวรัสโคโรนา ผู้มีส่วนร่วมต่างๆที่ดูไม่น่าเป็นไปได้ ได้มาร่วมรับใช้ด้วยกัน และผู้เชื่อในพระเยซูได้รับโอกาสใหม่ๆในการแบ่งปันความสว่างของพระคริสต์กับผู้อื่น พระเยซูทรงสอนเหล่าสาวกในคำเทศนาบนภูเขาว่า “จงส่องสว่างแก่คนทั้งปวง เพื่อ...เขาได้เห็นความดีที่ท่านทำ” (มธ.5:16) เราส่องความสว่างของพระคริสต์โดยให้พระวิญญาณทรงนำเราในความรัก ในความดี และในคำพูดและการกระทำที่ดีงาม (ดู กท.5:22-23) เมื่อเรายอมให้ความสว่างที่เราได้รับจากพระเยซูส่องสว่างในชีวิตประจำวันของเราอย่างชัดเจน เราก็ “สรรเสริญพระบิดา [ของเรา]ผู้ทรงอยู่ในสวรรค์” (มธ.5:16)

ในวันนี้และทุกวันขอให้เราส่องสว่างเพื่อพระคริสต์ ขณะที่พระองค์ทรงช่วยให้เราเป็นเกลือและแสงสว่างในโลกที่ต้องการพระองค์อย่างที่สุด

ผู้ที่สร้างฉัน

ตอนโทมัส เอดิสันอายุเจ็ดขวบ เขาไม่ชอบเรียนหนังสือหรือเรียนไม่เก่ง มีอยู่วันหนึ่งครูถึงกับเรียกเขาว่า “พวกโรคจิต” (จิตสับสน) เขากลับบ้านด้วยความโกรธ หลังจากพูดคุยกับครูในวันรุ่งขึ้น แม่ของเขาซึ่งเคยเป็นครูตัดสินใจที่จะสอนโทมัสเองที่บ้าน ด้วยความรักและกำลังใจจากแม่ (บวกกับอัจฉริยภาพที่พระเจ้ามอบให้) โทมัสจึงกลายเป็นนักประดิษฐ์ที่ยิ่งใหญ่ ในเวลาต่อมาเขาเขียน ว่า “แม่ของผมเป็นคนสร้างผมขึ้นมา เธอจริงใจและมั่นใจในตัวผมมาก และผมรู้สึกว่าจะต้องมีชีวิตอยู่เพื่อใครบางคนที่ผมจะไม่ทำให้คนนั้นผิดหวัง”

ในกิจการ 15 เราอ่านพบว่า บารนาบัสและอัครทูตเปาโลรับใช้ด้วยกันในฐานะมิชชันนารีจนกระทั่งพวกเขาขัดแย้งกันอย่างหนักในเรื่องที่ว่าจะนำยอห์น มาระโกไปด้วยหรือไม่ เปาโลไม่เห็นด้วยเพราะมาระโกเคย “ละท่านทั้งสองเสียที่แคว้นปัมฟีเลีย” (ข้อ 36-38) ผลก็คือเปาโลกับบารนาบัสแยกทางกัน เปาโลไปกับสิลาสและบารนาบัสไปกับมาระโก บารนาบัสเต็มใจให้โอกาสมาระโกเป็นครั้งที่สอง และกำลังใจของท่านมีส่วนทำให้มาระโกสามารถรับใช้และประสบความสำเร็จในฐานะมิชชันนารี เขายังเป็นคนเขียนพระธรรมมาระโกและเป็นคนที่คอยหนุนใจเปาโลขณะที่ท่านอยู่ในคุก (2 ทธ.4:11)

พวกเราหลายคนที่มองย้อนกลับไปและพบว่ามีใครบางคนในชีวิตที่คอยให้กำลังใจและช่วยเหลือเราตลอดเส้นทาง พระเจ้าอาจกำลังเรียกให้คุณทำแบบเดียวกันกับบางคนในชีวิตของคุณ ใครกันคือคนนั้นที่คุณจะหนุนใจเขาได้

พระเยซูคือผู้ใด

ผู้คนเชื่อกันว่าพระเยซูคือใคร บางคนบอกว่าพระองค์เป็นครูที่ดีคนหนึ่งแต่ก็เป็นแค่มนุษย์ นักเขียน ซี.เอส.ลูอิสเขียนไว้ว่า “ชายผู้นี้ถ้าไม่ใช่เป็นหรือเคยเป็นพระบุตรของพระเจ้า ก็เป็นคนเสียสติหรืออะไรที่แย่กว่านั้น คุณอาจปิดปากพระองค์บอกว่าเป็นคนเขลา คุณอาจถ่มน้ำลายรดพระองค์และประหารพระองค์ราวกับเป็นมารร้าย หรือคุณอาจหมอบลงแทบเท้าพระองค์และเรียกพระองค์ว่าองค์พระผู้เป็นเจ้าและพระเจ้า แต่อย่าให้เรานำเรื่องไร้สาระมาอ้างว่าพระองค์เป็นครูที่เป็นมนุษย์ผู้ยิ่งใหญ่เลย” ประโยคที่ยังคงโด่งดังจากหนังสือ แก่นแท้แห่งคริสต์ศาสนา นำเสนอว่า พระเยซูจะไม่ได้เป็นผู้เผยพระวจนะที่ยิ่งใหญ่เลยหากพระองค์หลอกลวงว่าเป็นพระเจ้า และนั่นคงจะเป็นคำสอนเท็จขั้นสูงสุด

ขณะสนทนากับเหล่าสาวกระหว่างเดินทางไปหมู่บ้านแห่งหนึ่ง พระเยซูตรัสถามพวกเขาว่า “คนทั้งหลายพูดกันว่าเราเป็นผู้ใด” (มก.8:27) คำตอบของพวกเขามีทั้งยอห์นผู้ให้บัพติศมา เอลียาห์ และคนหนึ่งในพวกผู้เผยพระวจนะ (ข้อ 28) แต่พระเยซูทรงต้องการทราบสิ่งที่พวกเขาเชื่อ “ฝ่ายพวกท่านเล่าว่าเราเป็นใคร” เปโตรตอบถูกว่า “พระองค์ทรงเป็นพระคริสต์” (ข้อ 29) พระผู้ช่วยให้รอด

แต่เราล่ะจะบอกว่าพระเยซูคือใคร พระเยซูไม่สามารถเป็นครูหรือผู้เผยพระวจนะที่ดีได้ถ้าสิ่งที่พระองค์ตรัสถึงพระองค์เองว่าพระองค์กับพระบิดา (พระเจ้า) เป็น “อันหนึ่งอันเดียวกัน” (ยน.10:30) ไม่เป็นความจริง ผู้ติดตามพระองค์หรือแม้แต่ผีร้ายยังประกาศความเป็นพระเจ้าของพระองค์ว่าทรงเป็นพระบุตรของพระเจ้า (มธ.8:29; 16:16; 1 ยน.5:20) ในวันนี้ ให้เราประกาศถ้อยคำที่บอกว่าพระคริสต์คือใครขณะที่พระองค์ทรงจัดเตรียมสิ่งจำเป็นแก่เรา

ไม่ต้องมีสูตรสำเร็จ

เมื่อเจนยังเด็ก ครูสอนรวีฯผู้มีเจตนาดีได้ฝึกอบรมเด็กในชั้นเรียนเรื่องการประกาศ ซึ่งรวมถึงการท่องจำข้อพระคัมภีร์และสูตรสำเร็จในการแบ่งปันพระกิตติคุณ เธอกับเพื่อนลองใช้วิธีนี้อย่างประหม่ากับเพื่อนอีกคนหนึ่ง พวกเขากลัวจะลืมข้อพระคัมภีร์หรือขั้นตอนที่สำคัญไป เจน “จำไม่ได้ว่าเย็นวันนั้นจบลงด้วยการที่เพื่อนรับเชื่อหรือไม่ แต่เดาว่าไม่” ดูเหมือนวิธีการที่เธอใช้จะให้ความสำคัญกับการทำตามสูตรมากกว่าตัวบุคคล

หลายปีต่อมา ตอนนี้เจนและสามีกำลังเป็นตัวอย่างที่แสดงให้ลูกๆเห็นถึงความรักที่พวกเขามีต่อพระเจ้าและแบ่งปันความเชื่อของพวกเขาด้วยวิธีการที่น่าสนใจมากขึ้น พวกเขาเข้าใจถึงความสำคัญในการสอนลูกๆเรื่องพระเจ้า พระคัมภีร์ และการมีความสัมพันธ์ส่วนตัวกับพระเยซู แต่พวกเขากำลังทำเช่นนั้นผ่านการดำเนินชีวิต ที่สำแดงถึงความรักต่อพระเจ้าและพระวจนะในแต่ละวัน พวกเขากำลังแสดงให้เห็นว่าการเป็น “ความสว่างของโลก” (มธ.5:14) รวมถึงการประกาศด้วยคำพูดที่อ่อนโยนและเป็นมิตรนั้นเป็นเช่นไร เจนกล่าวว่า “เราไม่สามารถส่งต่อถ้อยคำแห่งชีวิตไปยังผู้อื่นได้หากตัวเราเองไม่มีถ้อยคำนั้นอยู่ในชีวิต” เมื่อเธอและสามีแสดงความกรุณาในวิถีการดำเนินชีวิตของตนเอง พวกเขาก็กำลังเตรียมลูกๆให้ “นำผู้อื่นมาเชื่อ”

เราไม่จำเป็นต้องมีสูตรสำเร็จในการนำผู้อื่นมาหาพระเยซู สิ่งสำคัญที่สุดคือ ความรักที่เรามีต่อพระเจ้าจะต้องมีอิทธิพลและส่องสว่างผ่านชีวิตของเรา เมื่อเราดำเนินชีวิตและแบ่งปันความรักของพระองค์ พระเจ้าจะนำผู้อื่นให้มารู้จักพระองค์เช่นกัน

เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ หากท่านใช้บริการเว็บไซต์นี้ต่อไป นั่นเป็นการแสดงว่าท่านยอมรับ นโยบายการใช้คุกกี้ของเรา