ก้าวออกไปด้วยความเชื่อ

นักเทศน์รับเชิญได้พูดถึงเรื่องสติปัญญาในการไว้วางใจพระเจ้าและการ “ก้าวลงไปในแม่น้ำ” เขาเล่าถึงศิษยาภิบาลคนหนึ่งที่วางใจพระเจ้าและเลือกที่จะพูดความจริงจากพระคัมภีร์ในการเทศนา แม้จะขัดกับกฎหมายใหม่ในประเทศของเขา เขาจึงถูกตั้งข้อหาสร้างความเกลียดชังและต้องติดคุกอยู่สามสิบวัน แต่เขาได้รับการอุทธรณ์และศาลตัดสินว่าเขามีสิทธิ์ที่จะแบ่งปันความเข้าใจส่วนตัวในเรื่องพระคัมภีร์และหนุนใจให้ผู้อื่นทำตามได้

ปุโรหิตผู้หามหีบพันธสัญญาก็ต้องเลือกเช่นกัน ไม่ว่าจะก้าวลงไปในน้ำ หรือยืนอยู่ที่ริมฝั่ง ภายหลังการหนีออกจากอียิปต์ ชนชาติอิสราเอลอยู่ในทะเลทรายเป็นเวลาสี่สิบปี ในเวลานี้พวกเขาได้มายืนอยู่ที่ริมฝั่งแม่น้ำจอร์แดนซึ่งน้ำกำลังท่วมสูงในระดับที่อันตราย แต่พวกเขาก้าวออกไป และพระเจ้าทรงให้น้ำไหลกลับ “เมื่อ...เท้าของปุโรหิต...ก้าวลงแม่น้ำแล้ว น้ำที่ไหลมาจากข้างบนก็หยุด” (ยชว.3:15-16)

เมื่อเราวางใจพระเจ้าด้วยชีวิตของเรา พระองค์จะประทานความกล้าหาญให้เราก้าวไปข้างหน้า ไม่ว่าจะเป็นการเลือกพูดความจริงจากพระคัมภีร์หรือการก้าวไปในดินแดนที่เราไม่รู้จัก ในระหว่างการพิจารณาคดีของศิษยาภิบาล ศาลได้ยินข่าวประเสริฐผ่านคำเทศนาของเขา และในพระธรรมโยชูวา ชนชาติอิสราเอลข้ามแม่น้ำอย่างปลอดภัยไปสู่ดินแดนแห่งพระสัญญา และได้แบ่งปันถึงฤทธานุภาพของพระเจ้าแก่คนรุ่นหลัง (ข้อ 17; 4:24)

เมื่อเราก้าวออกไปด้วยความเชื่อ พระเจ้าจะทรงดูแลส่วนที่เหลือ

ถิ่นทุรกันดาร

เมื่อตอนเป็นผู้เชื่อใหม่ ฉันคิดว่าประสบการณ์ “บนยอดเขา” คือสถานที่ที่ฉันได้พบพระเยซู แต่ความสำเร็จเหล่านั้นคงอยู่ไม่นานและไม่ได้นำไปสู่การเติบโต นักเขียนชื่อลิน่า อบูจัมรากล่าวว่า ถิ่นทุรกันดารคือที่ที่เราได้พบพระเจ้าและเติบโต ในคู่มือศึกษาพระคัมภีร์เรื่อง ผ่านถิ่นทุรกันดาร (Through the Desert) เธอเขียนไว้ว่า “พระประสงค์ของพระเจ้าคือการใช้ถิ่นทุรกันดารในชีวิตของเราเพื่อทำให้เราแข็งแกร่งขึ้น” เธอกล่าวต่อว่า “เราจะพบความประเสริฐของพระเจ้าได้ในท่ามกลางความเจ็บปวด ไม่ใช่เวลาที่เราไม่มีความเจ็บปวด”

สถานการณ์แห่งความโศกเศร้า การสูญเสีย และความเจ็บปวด คือที่ซึ่งพระเจ้าทรงช่วยให้เราเติบโตในความเชื่อและใกล้ชิดพระองค์มากขึ้นดังที่ลิน่าได้เรียนรู้ว่า “ถิ่นทุรกันดารไม่ใช่ความผิดพลาดในแผนการของพระเจ้า แต่เป็นส่วนสำคัญในกระบวนการแห่งการเติบโต [ของเรา]”

พระเจ้าทรงนำบรรดาผู้นำในพันธสัญญาเดิมหลายคนไปในทะเลทราย อับราฮัม อิสอัค และยาโคบต่างก็มีประสบการณ์ในถิ่นทุรกันดาร ในทะเลทรายนั้นเองที่พระเจ้าทรงเตรียมจิตใจของโมเสสและเรียกท่านให้นำชนชาติของพระองค์ออกจากการเป็นทาส (อพย.3:1-2, 9-10) และในทะเลทรายนั้นเองที่พระเจ้าทรง “ทราบทางที่ [ชนอิสราเอล] ได้เดิน” เป็นเวลาสี่สิบปีด้วยความช่วยเหลือและการทรงนำของพระองค์ (ฉธบ.2:7)

พระเจ้าทรงสถิตอยู่กับโมเสสและคนอิสราเอลในทุกๆย่างก้าวที่พวกเขาเดินผ่านถิ่นทุรกันดาร และพระองค์ทรงอยู่กับคุณและฉันในถิ่นทุรกันดารของเราด้วย ในทะเลทรายนั้นเราเรียนรู้ที่จะพึ่งพาพระเจ้า ที่นั่นพระองค์ทรงมาพบเรา และนั่นคือที่ซึ่งเราได้เติบโตขึ้น

ปล้ำสู้กับพระเจ้า

เพื่อนเก่าคนหนึ่งส่งข้อความถึงฉันหลังจากที่สามีของฉันเสียชีวิต “[อลัน] เป็น...นักปล้ำสู้กับพระเจ้า เขาเป็นยาโคบตัวจริงและเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ผมเป็นคริสเตียนจนถึงทุกวันนี้” ฉันไม่เคยคิดเปรียบเทียบการต่อสู้ของอลันกับยาโคบ แต่เขาก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ ในตลอดชีวิตอลันปล้ำสู้กับตัวเองและกับพระเจ้าเพื่อหาคำตอบในเรื่องต่างๆ เขารักพระเจ้าแต่ไม่อาจเข้าใจความจริงที่ว่าพระองค์ทรงรักเขา ให้อภัยเขา และฟังคำอธิษฐานของเขาเสมอ แต่ชีวิตของเขาก็ได้รับพร และเขาก็มีอิทธิพลในทางที่ดีต่อผู้คนมากมาย

คุณลักษณะชีวิตของยาโคบนั้นถูกหล่อหลอมขึ้นจากการต่อสู้ดิ้นรน เขาสมรู้ร่วมคิดกับแม่เพื่อแย่งสิทธิบุตรหัวปีมาจากเอซาวพี่ชาย เขาหนีออกจากบ้านและต่อสู้ดิ้นรนอยู่หลายปีกับลาบันซึ่งเป็นทั้งพ่อตาและญาติฝ่ายแม่ จากนั้นเขาก็หนีไปจากลาบัน ขณะที่เขาอยู่เพียงลำพังและกลัวที่จะพบกับเอซาว ก็มีบุรุษจากสวรรค์มาหา “เหล่าทูตของพระเจ้าพบเขา” (ปฐก.32:1) ซึ่งนี่อาจเป็นการเตือนยาโคบถึงความฝันจากพระเจ้าก่อนหน้านี้ (28:10-22) ครั้งนี้จึงเป็นการเผชิญหน้าอีกครั้งของยาโคบ ตลอดทั้งคืนเขาปล้ำสู้กับพระเจ้าในร่าง “มนุษย์” ผู้ทรงตั้งชื่อให้เขาใหม่ว่าอิสราเอล เพราะเขา “สู้กับพระเจ้าและมนุษย์ และได้ชัยชนะ” (32:28) พระเจ้าทรงสถิตกับยาโคบและทรงรักยาโคบไม่ว่าเขาจะผ่านเหตุการณ์ใดมาก็ตาม

เราทุกคนต่างเผชิญกับการต่อสู้ดิ้นรน แต่เราไม่ได้อยู่คนเดียว พระเจ้าทรงอยู่กับเราในทุกๆการทดลอง ผู้ที่เชื่อในพระองค์จะได้รับความรัก การอภัย และชีวิตนิรันดร์ตามที่ทรงสัญญาไว้ (ยน.3:16) เราสามารถยึดพระองค์ไว้ให้มั่น

ความสุขใจในการให้

เมื่อลูกชายตัวน้อยของเครี่ต้องเข้ารับการผ่าตัดอีกครั้งจากโรคกล้ามเนื้อเสื่อม เธอไม่ต้องการคิดถึงแต่เรื่องสถานการณ์ในครอบครัวจึงอยากจะทำอะไรสักอย่างเพื่อคนอื่น เธอเก็บรวบรวมรองเท้าของลูกชายที่ใส่ไม่ได้แล้วแต่สภาพยังดีเพื่อเอาไปบริจาคให้กับพันธกิจแห่งหนึ่ง การให้ของเธอครั้งนี้กระตุ้นให้เพื่อนๆ สมาชิกในครอบครัวและแม้กระทั่งเพื่อนบ้านเข้ามามีส่วนร่วมด้วย จากนั้นไม่นานก็มีรองเท้ามากกว่าสองร้อยคู่ที่พวกเขาบริจาคไป!

แม้เรื่องของรองเท้าเกิดขึ้นจากความตั้งใจเพื่ออวยพรผู้อื่น แต่เครี่กลับรู้สึกว่าครอบครัวของเธอได้รับการอวยพรมากกว่า “ประสบการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นทำให้จิตวิญญาณเราชื่นชมยินดีและช่วยให้เราสนใจในการช่วยเหลือผู้อื่น”

เปาโลเข้าใจถึงความสำคัญที่ผู้ติดตามพระเยซูควรจะให้ด้วยใจกว้างขวาง ในระหว่างที่เดินทางไปเยรูซาเล็ม อัครทูตเปาโลได้หยุดแวะที่เมืองเอเฟซัส ท่านรู้ว่านั่นอาจจะเป็นครั้งสุดท้ายที่จะได้แวะเยี่ยมคนที่คริสตจักรซึ่งท่านเป็นผู้ก่อตั้ง ในการกล่าวอำลากับเหล่าผู้ปกครองของคริสตจักร เปาโลเตือนพวกเขาว่าท่านเองได้ทำงานอย่างตั้งใจจริงที่จะปรนนิบัติพระเจ้า (กจ.20:17-20) และหนุนใจให้พวกเขาทำเช่นเดียวกัน จากนั้นท่านปิดท้ายด้วยคำตรัสของพระเยซูว่า “การให้เป็นเหตุให้มีความสุขยิ่งกว่าการรับ” (ข้อ 35)

พระเยซูทรงต้องการให้เราให้ด้วยใจกว้างขวางด้วยความเต็มใจและถ่อมใจ (ลก.6:38) เมื่อเราวางใจให้พระองค์ทรงนำ พระองค์จะทรงจัดเตรียมโอกาสให้เราได้ทำเช่นนั้น เราอาจประหลาดใจเช่นเดียวกับครอบครัวของเครี่ว่าผลที่เราจะได้รับนั้นคือความสุขใจ

ประชุมกันในพระเยซู

ในเวลาที่ฉันเผชิญกับความเจ็บปวดทางอารมณ์และจิตวิญญาณ และต้องต่อสู้กับสถานการณ์ยุ่งยากในชีวิตเป็นเวลานานนั้น ฉันอาจถอนตัวจากคริสตจักรไปได้ง่ายๆ (และบางครั้งฉันคิดคำนึงว่า “จะลำบากไปทำไม”) แต่ฉันก็รู้สึกถึงหน้าที่ที่จะต้องไปทุกสัปดาห์

แม้ว่าสถานการณ์ของฉันจะยังคงเป็นเหมือนเดิมอยู่ตลอดหลายปี แต่การได้สรรเสริญพระเจ้าและรวมกลุ่มกับผู้เชื่ออื่นในการนมัสการ ในกลุ่มอธิษฐาน และกลุ่มเรียนพระคัมภีร์ ได้มอบกำลังใจที่จำเป็นแก่ฉันเพื่อจะยืนหยัดและยังคงมีความหวัง และหลายครั้งที่ฉันไม่เพียงได้ฟังข้อความหรือคำสอนที่หนุนใจ แต่ฉันยังได้รับการปลอบประโลมใจ มีคนที่รับฟัง และได้รับอ้อมกอดที่ฉันต้องการจากคนอื่น

ผู้เขียนพระธรรมฮีบรูเขียนไว้ว่า “อย่าขาดการประชุมเหมือนอย่างบางคนที่ขาดอยู่นั้น แต่จงพูดหนุนใจกันให้มากยิ่งขึ้น” (ฮบ.10:25) ผู้เขียนฮีบรูทราบว่าเมื่อเราเผชิญกับความทุกข์และความยากลำบาก เราจะต้องการการหนุนใจจากคนอื่น และคนอื่นก็ต้องการจากเราเช่นเดียวกัน ผู้เขียนจึงเตือนผู้อ่านให้ “ยึดมั่นในความหวังที่เราทั้งหลายเชื่อและรับไว้นั้น” และพิจารณาดูว่าจะทำอย่างไร จึงจะ “ปลุกใจซึ่งกันและกันให้มีความรักและทำความดี” (ข้อ 23-24) นี่คือหัวใจหลักของการหนุนใจ นี่คือเหตุผลที่พระเจ้าทรงนำให้เราประชุมกันอย่างสม่ำเสมอ มีบางคนที่อาจต้องการคำหนุนใจด้วยความรักจากคุณ และคุณจะประหลาดใจกับสิ่งที่ได้รับคืนมา

ความทุกข์ทรมานของพระคริสต์

ก่อนที่จิม คาวีเซล จะรับบทพระเยซูในภาพยนตร์เรื่อง เดอะแพสชั่นออฟ เดอะไครสต์ ผู้กำกับเมล กิ๊บสันเตือนว่าบทนี้ยากมากและอาจส่งผลทางลบต่ออาชีพในฮอลลีวู้ดของเขา ถึงอย่างนั้นคาวีเซลก็ยังรับเล่นบทนี้โดยพูดว่า “ผมคิดว่าเราต้องลงมือทำ แม้ว่าจะยาก”

ระหว่างการถ่ายทำ คาวีเซลถูกฟ้าผ่า น้ำหนักลดไปยี่สิบกิโลกรัม และถูกเฆี่ยนจริงโดยไม่ได้ตั้งใจในฉากเฆี่ยนตี ภายหลังเขากล่าวว่า “ผมไม่ต้องการให้คนเห็นว่านั่นคือผม ผมแค่อยากให้พวกเขาเห็นว่านั่นคือพระเยซู การเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นผ่านสิ่งนั้น” ภาพยนตร์เรื่องนี้ส่งผลกระทบต่อคาวีเซลและคนอื่นๆในกองถ่ายอย่างมาก และมีเพียงพระเจ้าเท่านั้นที่รู้ว่ามีผู้คนกี่ล้านคนที่ได้ดูภาพยนตร์เรื่องนี้แล้วพบกับการเปลี่ยนแปลงในชีวิตเดอะแพสชั่นออฟเดอะไครสต์ ถ่ายทอดช่วงเวลาการทนทุกข์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของพระเยซู ตั้งแต่การเสด็จเข้ากรุงอย่างผู้พิชิตในวันอาทิตย์ทางตาล รวมถึงการถูกทรยศ เยาะเย้ย เฆี่ยนตี และตรึงกางเขน เหตุการณ์เหล่านี้ปรากฏอยู่ในพระกิตติคุณทั้งสี่เล่ม

อิสยาห์ 53 ได้บอกถึงการทนทุกข์ของพระองค์และผลที่ตามมาไว้ล่วงหน้า “แต่ท่านถูกบาดเจ็บเพราะความทรยศของเราทั้งหลาย ท่านฟกช้ำเพราะความบาปผิดของเรา การตีสอนอันทำให้เราทั้งหลายสมบูรณ์นั้นตกแก่ท่าน ที่ท่านต้องฟกช้ำนั้นก็ให้เราหายดี” (ข้อ 5) เราทุกคน “ได้เจิ่นไปเหมือนแกะ” (ข้อ 6) แต่เพราะการสิ้นพระชนม์และฟื้นคืนพระชนม์ของพระเยซู เราจึงมีสันติสุขในพระเจ้า การทนทุกข์ของพระองค์เปิดหนทางให้เราได้อยู่กับพระองค์

เสียงเรียกให้อธิษฐาน

อับราฮัม ลินคอล์นเปิดเผยกับเพื่อนคนหนึ่งว่า “หลายต่อหลายครั้งที่ผมถูกผลักดันให้คุกเข่าลงอธิษฐาน เพราะผมเชื่อมั่นอย่างเต็มเปี่ยมว่าผมไม่มีที่พึ่งอื่นอีกแล้ว” ในช่วงเวลาอันเลวร้ายของสงครามกลางเมืองในอเมริกา ประธานาธิบดีลินคอล์นไม่ได้เพียงแค่ใช้เวลาในการอธิษฐานอย่างร้อนรนเท่านั้น แต่ยังเรียกร้องให้ทั้งประเทศมาร่วมกับท่านด้วย ในปีค.ศ. 1861 ท่านประกาศให้มี “วันแห่งความถ่อมใจ อธิษฐาน และอดอาหาร” และท่านก็ประกาศเช่นเดียวกันอีกในปีค.ศ. 1863 โดยกล่าวว่า “ทั้งประเทศชาติและประชาชนต่างก็มีหน้าที่เช่นเดียวกันที่จะต้องพึ่งพาฤทธิ์อำนาจสูงสุดของพระเจ้าในการลบล้างความผิด ด้วยการสารภาพความผิดบาปด้วยความเสียใจและถ่อมใจ โดยยังคงมั่นใจในความหวังว่าการกลับใจอย่างแท้จริงจะนำไปสู่พระเมตตาและการอภัย”

หลังจากที่คนอิสราเอลถูกจับไปเป็นเชลยในบาบิโลนเป็นเวลาเจ็ดสิบปีกษัตริย์ไซรัสทรงมีประกาศว่าชนอิสราเอลคนใดก็ตามที่ต้องการกลับไปยังเยรูซาเล็มก็ให้กลับไปได้ เมื่อเนหะมีย์ซึ่งเป็นคนอิสราเอล (นหม.1:6) และเป็นพนักงานเชิญถ้วยเสวยของกษัตริย์แห่งบาบิโลน (ข้อ 11) ได้ยินว่าคนเหล่านั้นที่กลับไป “มีความลำบากและความอับอายมาก” (ข้อ 3) ท่าน “นั่งลงร้องไห้” และโศกเศร้า อดอาหารและอธิษฐานอยู่หลายวัน (ข้อ 4) ท่านปล้ำสู้อธิษฐานเพื่อชนชาติของท่านเอง (ข้อ 5-11) และต่อมา ท่านก็ขอให้คนของท่านอดอาหารและอธิษฐานด้วยเช่นกัน (9:1-37)

หลายศตวรรษต่อมาในยุคของจักรวรรดิโรมัน เปาโลร้องขอให้ผู้อ่านจดหมายของท่านอธิษฐานเพื่อผู้ที่มีตำแหน่งสูงเช่นกัน (1ทธ.2:1-2) พระเจ้าของเรานั้นยังทรงสดับฟังคำอธิษฐานที่เราทูลในเรื่องต่างๆที่ส่งผลต่อชีวิตของผู้อื่นอยู่เสมอ

เอาชนะการทดลอง

แอนน์เติบโตขึ้นมากับความยากจนและความเจ็บปวด พี่น้องสองคนของเธอเสียชีวิตตั้งแต่ยังเป็นทารก เมื่ออายุห้าขวบโรคทางตาทำให้เธอตาบอดบางส่วนและไม่สามารถอ่านหรือเขียนได้ เมื่อแอนน์อายุแปดขวบแม่ก็เสียชีวิตจากวัณโรค จากนั้นไม่นานพ่อที่ข่มเหงทารุณก็ทิ้งลูกที่ยังเหลือรอดทั้งสามคนไป น้องคนสุดท้องถูกส่งไปอยู่กับญาติ แต่แอนน์กับจิมมี่น้องชายถูกส่งไปสถานสงเคราะห์คนยากไร้ทิวส์เบอรี่ที่แออัดทรุดโทรม ไม่กี่เดือนต่อมาจิมมี่ก็เสียชีวิต

เมื่ออายุสิบสี่ปีสถานการณ์ของแอนน์ดีขึ้น เธอถูกส่งไปโรงเรียนสำหรับคนตาบอด ที่ซึ่งเธอได้รับการผ่าตัดเพื่อช่วยเรื่องการมองเห็นและได้เรียนรู้การอ่านและเขียน แม้จะมีปัญหาในการปรับตัวแต่เธอก็เรียนได้อย่างดีเลิศและได้เป็นตัวแทนกล่าวสุนทรพจน์ในวันจบการศึกษา ในวันนี้เรารู้จักแอนน์ ซัลลิแวนอย่างดีในฐานะครูและเพื่อนของเฮเลน เคลเลอร์ ด้วยความพยายาม ความอดทน และความรัก แอนน์สอนเฮเลนซึ่งตาบอดและหูหนวกให้พูดและอ่านอักษรเบรลล์จนจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัย

โยเซฟก็ต้องเอาชนะการทดลองอันโหดร้ายเช่นกัน เมื่ออายุสิบเจ็ดปีท่านถูกพวกพี่ชายขี้อิจฉาขายไปเป็นทาส ต่อมายังถูกจำคุกโดยไม่มีความผิด (ปฐก.37; 39-41) กระนั้นพระเจ้ายังทรงใช้ท่านให้ช่วยอียิปต์และครอบครัวของท่านจากการกันดารอาหาร (50:20)

เราทุกคนต่างต้องเจอกับการทดลองและปัญหา แต่เช่นที่พระเจ้าทรงช่วยโยเซฟและแอนน์ให้เอาชนะและให้สร้างผลกระทบในชีวิตของผู้อื่นอย่างลึกซึ้ง พระองค์ก็ทรงสามารถช่วยและใช้เราได้เช่นกัน จงแสวงหาความช่วยเหลือและการทรงนำจากพระองค์ พระองค์ทรงเห็นและทรงได้ยิน

ผลตอบแทนล้ำค่า

ตลอดเวลาสามปีในช่วงเปิดเทอม ทุกวันคอลลีนจะสวมใส่เครื่องแต่งกายหรือหน้ากากแบบต่างๆเพื่อรอรับเด็กๆที่ลงมาจากรถโรงเรียนในตอนบ่าย ทุกคนบนรถโรงเรียนรู้สึกมีความสุข แม้กระทั่งคนขับรถที่บอกว่า “เธอทำให้เด็กๆบนรถของผมมีความสุข มันดีมาก ผมชอบนะ” ลูกของคอลลีนก็เห็นด้วย

ทุกอย่างเกิดขึ้นเมื่อคอลลีนเริ่มรับอุปการะเด็ก เธอรู้ว่ามันยากแค่ไหนที่จะต้องแยกจากพ่อแม่และต้องไปโรงเรียนใหม่ เธอจึงเริ่มสวมเครื่องแต่งกายพิเศษเพื่อรอรับพวกเขากลับบ้าน หลังจากสามวันผ่านไปเด็กๆไม่ยอมให้เธอหยุด คอลลีนจึงทำเช่นนั้นต่อไป เธอต้องลงทุนเวลาและเงินที่ร้านขายของมือสอง แต่นักข่าวเมเรดิธ เทอร์ฮาร์ได้บรรยายว่า มันนำมาซึ่ง “ผลลัพธ์ที่ล้ำค่า ซึ่งก็คือความสุข”

ข้อพระธรรมสั้นๆข้อหนึ่งในหนังสือแห่งปัญญาและคำสอนที่ชาญฉลาดซึ่งส่วนมากเขียนโดยกษัตริย์ซาโลมอนถึงพระโอรสของพระองค์ ได้สรุปผลลัพธ์ของการเล่นมุขตลกของแม่คนนี้ว่า “ใจร่าเริงเป็นยาอย่างดี แต่จิตใจที่หมดมานะทำให้กระดูกแห้ง” (สภษ.17:22) เธอทำให้เด็กๆทุกคน (ไม่ว่าจะเป็นลูก ลูกบุญธรรม และเด็กในอุปการะ) มีความสุข เพราะเธอหวังที่จะป้องกันไม่ให้เกิดจิตใจที่ชอกช้ำหมดมานะ

แหล่งแห่งความสุขที่แท้จริงและยั่งยืนคือพระเจ้าโดยทางพระวิญญาณบริสุทธิ์ (ลก.10:21; กท.5:22) พระวิญญาณจะทำให้เราสามารถส่องแสงของพระเจ้าในเวลาที่เราพยายามทำให้ผู้อื่นมีความสุข อันเป็นความสุขที่นำมาซึ่งความหวังและกำลังสำหรับเผชิญการทดลอง

เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ หากท่านใช้บริการเว็บไซต์นี้ต่อไป นั่นเป็นการแสดงว่าท่านยอมรับ นโยบายการใช้คุกกี้ของเรา