นักจิตวิทยาชื่อเม็ก เจย์กล่าวไว้ว่า ใจของเรามักจะคิดถึงตัวเองในอนาคต คล้ายกับการคิดถึงคนแปลกหน้าที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน ที่เป็นแบบนี้อาจเป็นเพราะสิ่งที่บางครั้งถูกเรียกว่า “ช่องว่างแห่งความเห็นอกเห็นใจ” การเห็นอกเห็นใจและห่วงใยคนที่เราไม่รู้จักเป็นการส่วนตัวอาจเป็นเรื่องยาก แม้แต่กับตัวของเราเองในอนาคต ดังนั้นในงานของเธอ เจย์จึงพยายามช่วยคนหนุ่มสาวให้จินตนาการถึงตนเองในอนาคตและลงมือทำอะไรบางอย่างเพื่อดูแลตนเองในอนาคตนั้น รวมไปถึงวางแผนสิ่งที่จะทำให้กับตัวเองในอนาคต เพื่อปูทางให้พวกเขาไล่ตามความฝันและมุ่งมั่นกระทำให้สำเร็จต่อไป

ในสดุดี 90 เราได้รับการเชิญชวนให้มองชีวิตของเราไม่เพียงแค่ในปัจจุบันแต่ในภาพรวมทั้งชีวิต โดยทูลขอพระเจ้าให้ทรงช่วยเรา “นับวันของเรา เพื่อเราจะได้มีจิตใจที่มีปัญญา” (ข้อ 12) การตระหนักว่าเวลาของเราบนโลกมีจำกัด จะเตือนเราถึงความจำเป็นอย่างยิ่งในการพึ่งพาพระเจ้า เราต้องการความช่วยเหลือจากพระองค์เพื่อที่จะรู้จักวิธีพบความพึงพอใจและความยินดี ไม่ใช่แค่เพียงตอนนี้ แต่ “ตลอดวันเวลาของเรา” (ข้อ 14) เราต้องการความช่วยเหลือจากพระองค์เพื่อเรียนรู้ที่จะไม่คิดถึงแค่ตัวเราเท่านั้น แต่คิดถึงคนรุ่นต่อๆไปในอนาคตด้วย (ข้อ 16) และเราต้องการความช่วยเหลือจากพระองค์เพื่อรับใช้พระองค์ตามเวลาที่เราได้รับ ขณะที่พระองค์ทรงสถาปนาหัตถกิจแห่งมือและหัวใจของเรา (ข้อ 17)