หลังจากเพื่อนคนหนึ่งตัดขาดมิตรภาพอันยาวนานนับสิบปีโดยไม่บอกเหตุผล ฉันก็เริ่มถอยกลับไปทำนิสัยเดิมคือรักษาระยะห่างกับผู้คน ขณะที่กำลังจัดการกับความเศร้า ฉันดึงหนังสือเก่าชื่อ ความรักสี่ประเภท ของซี. เอส. ลูอิสออกมาจากชั้นวาง ลูอิสตั้งข้อสังเกตที่ทรงพลังถึงความรักที่ต้องมีความอ่อนแอ ท่านกล่าวว่า “ไม่มีการลงทุนที่ปลอดภัย” เมื่อคนๆหนึ่งเสี่ยงที่จะรัก การรัก “อะไรก็ตามจะนำไปสู่หัวใจที่ถูกบีบคั้นหรือแม้กระทั่งแตกสลาย” การได้อ่านข้อความเหล่านี้ทำให้ฉันเปลี่ยนมุมมองในการอ่านเรื่องการปรากฏตัวครั้งที่สามของพระเยซูกับสาวกหลังทรงคืนพระชนม์ (ยน.21:1-14) หลังจากเปโตรทรยศพระองค์ไม่เพียงครั้งเดียวแต่ถึงสามครั้ง (18:15-27)

พระเยซูตรัสว่า “ซีโมน​บุตร​ยอห์น​เอ๋ย เจ้า​รัก​เรา​มากกว่า​เหล่า​นี้​หรือ” (21:15)

หลังจากทรงเจ็บปวดกับการถูกหักหลังและถูกปฏิเสธ พระเยซูตรัสกับเปโตรด้วยความกล้าหาญไม่ใช่ความกลัว ด้วยความเข้มแข็งไม่ใช่อ่อนแอ ด้วยความไม่เห็นแก่ตัวไม่ใช่ความสิ้นหวัง พระองค์สำแดงพระเมตตาไม่ใช่ความเกรี้ยวกราด ด้วยการยืนยันถึงความเต็มพระทัยที่จะรัก

พระคัมภีร์บอกว่า “เปโตรก็​เป็น​ทุกข์​ใจ​ที่​พระ​องค์​ตรัส​ถาม​เขา​ครั้ง​ที่​สาม​ว่า ‘เจ้า​รัก​เรา​หรือ’” (ข้อ 17) แต่เมื่อพระเยซูขอให้เปโตรพิสูจน์ความรักของท่านด้วยการรักผู้อื่น (ข้อ 15-17) และติดตามพระองค์ (ข้อ 19) พระองค์ก็ทรงเชื้อเชิญสาวกทุกคนให้เสี่ยงที่จะรักโดยไม่มีเงื่อนไข เราทุกคนจะต้องตอบเมื่อพระเยซูตรัสถามว่า “เจ้ารักเราหรือ” คำตอบของเราจะส่งผลต่อความรักที่เรามีต่อผู้อื่น