พายุฝนฟ้าคะนองรุนแรงพัดถล่มเมืองเมมฟิส รัฐเทนเนสซีในเย็นวันที่ 3 เมษายน 1968 ศจ.ดร มาร์ติน ลูเธอร์คิง จูเนียร์รู้สึกอ่อนล้าและไม่สบาย เขาไม่ได้เตรียมใจที่จะกล่าวสุนทรพจน์ที่เตรียมไว้ที่คริสตจักรเพื่อสนับสนุนคนงานขนขยะที่ประท้วงหยุดงาน แต่เขาต้องประหลาดใจกับโทรศัพท์ด่วนที่แจ้งว่ามีคนจำนวนมากได้ลุยฝ่าสภาพอากาศอันเลวร้ายมาเพื่อจะฟังเขา เขาจึงไปยังห้องโถงและพูดเป็นเวลาสี่สิบนาทีในหัวข้อ “ข้าพเจ้าได้ไปถึงยอดเขา” ซึ่งบางคนถือว่าเป็นสุนทรพจน์ที่ดีที่สุดของเขา

วันต่อมาคิงถูกลอบยิงและเสียชีวิต แต่สุนทรพจน์ของเขายังคงสร้างแรงบันดาลใจให้บรรดาผู้ถูกกดขี่มีความหวังใน “ดินแดนแห่งพระสัญญา” เช่นเดียวกับผู้ติดตามพระเยซูกลุ่มแรกๆที่ได้รับการหนุนน้ำใจจากข้อเขียนที่ทำให้ฮึกเหิม หนังสือฮีบรูได้ถูกเขียนขึ้นเพื่อหนุนน้ำใจผู้เชื่อชาวยิวที่กำลังเผชิญกับภัยคุกคามเพราะความเชื่อในพระคริสต์ และได้มอบกำลังฝ่ายวิญญาณอันเข้มแข็งไม่ให้พวกเขาสิ้นหวัง ดั่งคำเรียกร้องว่าจง “ยกมือที่อ่อนแรงขึ้น และจงให้หัวเข่าที่อ่อนล้ามีกำลังขึ้น” (12:12) ในฐานะชาวยิว พวกเขาจำได้ว่าคำวิงวอนนั้นแต่เดิมมาจากผู้เผยพระวจนะอิสยาห์ (อสย.35:3)

แต่บัดนี้ในฐานะสาวกของพระคริสต์ เราได้ถูกเรียกให้ “วิ่งแข่งด้วยความเพียรพยายาม ตามที่กำหนดไว้สำหรับเรา หมายเอาพระเยซูเป็นผู้บุกเบิกความเชื่อ และผู้ทรงทำให้ความเชื่อของเราสมบูรณ์” (ฮบ.12:1-2) เมื่อทำเช่นนั้นแล้ว เรา “จะได้ไม่รู้สึกท้อถอย” (ข้อ 3)

แน่นอนว่าพายุและฝนฟ้าคะนองรอคอยเราอยู่ในชีวิตนี้ แต่ในพระเยซู เราจะรอดพ้นมรสุมแห่งชีวิตได้โดยการยืนหยัดในพระองค์