ไลซ่าต้องการหาวิธีทำให้ฤดูกาลกลับคืนมา ของตกแต่งมากมายสำหรับฤดูใบไม้ร่วงที่เธอเห็นดูเหมือนเพื่อเฉลิมฉลองความตาย บางอันดูน่าสยดสยองและน่ากลัว

ด้วยความมุ่งมั่นที่จะต่อต้านความมืดด้วยวิธีง่ายๆ ไลซ่าเริ่มด้วยการเขียนสิ่งที่เธอรู้สึกขอบพระคุณลงบนฟักทองลูกใหญ่ “แสงสว่าง” เป็นสิ่งแรก ในไม่ช้าผู้มาเยือนก็ทยอยเติมสิ่งอื่นๆเพิ่มเข้าไป บางสิ่งดูแปลกประหลาดเช่น “เส้นขยุกขยิก” สิ่งอื่นๆดูเป็นการเป็นงานเช่น “บ้านที่อบอุ่น” “รถที่ใช้งานได้” แต่ยังมีสิ่งอื่นอีกที่ทำให้เจ็บปวด เช่น ชื่อของคนที่เรารักที่ตายจากไป คำขอบพระคุณนั้นเริ่มเชื่อมต่อยาวเป็นลูกโซ่จนพันรอบฟักทองนั้น

พระธรรมสดุดีบทที่ 104 เสนอคำอธิษฐานเพื่อการสรรเสริญพระเจ้าสำหรับสิ่งต่างๆที่เรามักมองข้าม “พระองค์ทรงกระทำให้น้ำพุพลุ่งขึ้นมาในหุบเขา น้ำนั้นก็ไหลไประหว่างเขา” (ข้อ 10) ผู้ประพันธ์ร้อง “พระองค์ทรงให้หญ้างอกมาเพื่อสัตว์เลี้ยง และผักให้มนุษย์ได้ดูแล” (ข้อ 14) แม้ยามค่ำคืนก็ดีและเหมาะสม “พระองค์ทรงให้เกิดความมืดและเป็นกลางคืน เป็นสัตว์ของป่าไม้คลานออกมา” (ข้อ 20) แต่แล้ว “เมื่อดวงอาทิตย์ขึ้น…มนุษย์ก็ออกไปทำงานของเขา ไปทำภารกิจของเขาจนเวลาเย็น” (ข้อ 22-23) ทั้งหมดนี้ผู้เขียนสดุดีสรุปว่า “ข้ามีชีวิตอยู่ตราบใด ข้าจะร้องเพลงสดุดีถวายพระเจ้าของข้า” (ข้อ 33)

ในโลกที่ไม่รู้วิธีรับมือกับความตายนี้ แม้เพียงคำสรรเสริญที่เล็กน้อยที่สุดแด่พระผู้สร้างของเราก็สามารถกลายเป็นความหวังที่เปล่งประกายเจิดจ้า