เป็นเวลานาน 30 ปีที่สตรีชาวแอฟริกันอเมริกันคนหนึ่งทำงานอย่างสัตย์ซื่อในองค์กรพันธกิจระดับโลก แต่เมื่อเธอพยายามพูดกับเพื่อนร่วมงานหลายคนเรื่องความอยุติธรรมด้านเชื้อชาติ เธอกลับพบความเงียบ ในที่สุดในฤดูใบไม้ผลิปี 2020 เมื่อมีการถกประเด็นในเรื่องการเหยียดผิวทั่วโลก เพื่อนร่วมพันธกิจของเธอหลายคน “เริ่มพูดอย่างเปิดเผย” แม้จะมีความรู้สึกที่หลากหลายและเจ็บปวด เธอก็รู้สึกขอบคุณที่การพูดคุยได้เริ่มต้นขึ้น แต่ยังคงสงสัยว่าเหตุใดเพื่อนของเธอถึงรอนานเพียงนี้จึงจะยอมพูด

ความเงียบอาจเป็นสิ่งดีในบางสถานการณ์ เหมือนที่กษัตริย์ซาโลมอนเขียนในพระธรรมปัญญาจารย์ว่า “มีฤดูกาลสำหรับทุกสิ่ง และมีวาระสำหรับเรื่องราวทุกอย่างภายใต้ฟ้าสวรรค์…มีวาระนิ่งเงียบ และวาระพูด” (ปญจ.3:1,7)

อย่างไรก็ตาม เมื่อต้องเผชิญกับอคติและความอยุติธรรม ความเงียบรังแต่จะทำให้รุนแรงและเจ็บปวด มาร์ติน นีโมเลอร์ ศิษยาภิบาลนิกายลูเธอร์แรน (ถูกจำคุกในเยอรมันยุคนาซีเพราะพูดแสดงความเห็น) สารภาพถึงเรื่องนี้ในบทกวีที่เขาเขียนหลังสงคราม “ตอนแรกพวกเขามาจับพวกคอมมิวนิสต์” เขาเขียน “แต่ผมไม่ได้พูดอะไรเพราะผมไม่ใช่คอมมิวนิสต์” เขาเขียนอีกว่า “ต่อมาพวกเขามาจับ” ชาวยิว คาทอลิก และคนอื่นๆ “แต่ผมก็ไม่ได้พูดคัดค้าน” ในที่สุด “พวกเขามาจับผม และเมื่อถึงตอนนั้นก็ไม่เหลือใครที่จะพูดเพื่อผมแล้ว”

ต้องอาศัยความกล้าหาญและความรักที่จะพูดคัดค้านความอยุติธรรม แต่โดยแสวงหาการช่วยเหลือจากพระเจ้า เราจะตระหนักว่าขณะนี้ถึงเวลาที่ต้องพูด