ลูซี่ เวอร์สลีย์เป็นนักประวัติศาสตร์และนักจัดรายการโทรทัศน์ชาวอังกฤษ เธอก็เหมือนกับบุคคลสาธารณะส่วนมากที่ได้รับจดหมายหยาบคาย ในกรณีของเธอเป็นเรื่องความบกพร่องด้านการออกเสียงเล็กน้อยที่ทำให้เสียง ร ฟังคล้ายเสียง ว มีคนหนึ่งเขียนมาว่า “ลูซี่ ผมขอพูดตรงๆขอให้คุณปรับปรุงการออกเสียง หรือไม่ก็เอาคำที่มี ร ออกจากบทพูดให้หมด เพราะผมรำคาญจนไม่สามารถทนดูรายการของคุณจนจบได้ ด้วยความนับถือ ดาร์เรน”

สำหรับบางคน การแสดงความคิดเห็นที่ทำร้ายจิตใจแบบนี้อาจกระตุ้นให้เกิดการตอบกลับอย่างหยาบคายพอกัน แต่ลูซี่ตอบสนองว่า “ดาร์เรน ฉันคิดว่าคุณใช้การไม่เปิดเผยตัวตนทางอินเทอร์เน็ตเพื่อพูดในสิ่งที่คุณอาจจะไม่กล้าพูดต่อหน้าฉัน ขอช่วยพิจารณาคำพูดที่ไม่ดีของคุณใหม่ด้วยค่ะ! ลูซี่”

การตอบสนองอย่างมีสติของลูซี่ได้ผล ดาร์เรนขอโทษและสัญญาว่าจะไม่ส่งอีเมลแบบนี้ให้ใครอีก

สุภาษิตบันทึกไว้ว่า “คำตอบอ่อนหวานช่วยละลายความโกรธเกรี้ยวให้หายไป แต่คำกักขฬะเร้าโทสะ” (15:1) ขณะที่คนใจ​ร้อนเร้า​การ​วิวาท แต่คนที่โกรธช้าทำให้ทุกอย่างสงบลง (ข้อ 18) เมื่อเราได้รับคำวิจารณ์จากเพื่อนร่วมงาน คำพูดเหยียดหยามจากคนในครอบครัว หรือคำตอบหยาบคายจากคนแปลกหน้า เราเลือกได้ว่าจะใช้คำพูดรุนแรงที่เติมเชื้อไฟหรือใช้คำพูดสุภาพเพื่อดับไฟ

ขอพระเจ้าทรงช่วยเราให้ใช้คำพูดที่ช่วยละลายความโกรธเกรี้ยว และบางทีคำพูดนั้นอาจช่วยให้คนที่นิสัยไม่ดีนั้นเปลี่ยนแปลง