ระหว่างเรียนมหาวิทยาลัย ผมใช้เวลาช่วงปิดภาคฤดูร้อนในเวเนซุเอลามากพอสมควร อาหารน่าประทับใจ ผู้คนเบิกบาน อากาศและการต้อนรับช่างสวยงาม อย่างไรก็ตาม ในช่วงวันแรกๆผมเริ่มสังเกตว่ามุมมองเรื่องการบริหารเวลาของผมไม่เหมือนกับเหล่าเพื่อนใหม่ ถ้าเราวางแผนกินอาหารกลางวันตอนเที่ยง นั่นหมายถึงช่วงเวลาเที่ยงถึงบ่ายโมง เช่นเดียวกับการนัดหมายเพื่อการท่องเที่ยว คือกรอบของเวลาจะวางแบบหลวมๆไม่กำหนดอย่างตายตัว ผมเริ่มเรียนรู้ว่าความคิดเรื่อง “ตรงต่อเวลา” ของผมนั้นถูกกำหนดขึ้นตามวัฒนธรรมมากกว่าที่ผมตระหนัก

เราทุกคนถูกหล่อหลอมโดยค่านิยมทางวัฒนธรรมรอบตัวเรา ซึ่งเรามักจะไม่สังเกต เปาโลเรียกแรงกดดันทางวัฒนธรรมนี้ว่า “ยุค” (รม.12:2) ณ จุดนี้“ยุค” ไม่ได้หมายถึงสภาพทางกายภาพ แต่หมายถึงวิธีคิดที่แพร่กระจายอยู่ในการดำรงชีวิตของเรา คือความคิดหรือความเชื่อในเรื่องใดโดยไม่เคยตั้งคำถาม และแนวคิดชี้นำที่ถ่ายทอดมาให้กับเรา เพียงเพราะเราอยู่ในสถานที่และช่วงเวลานั้นๆ

เปาโลเตือนให้เราระวังว่า “อย่าประพฤติตามอย่างคนในยุคนี้” แต่เราจะต้อง “รับการเปลี่ยนแปลงจิตใจ” (ข้อ 2) แทนที่จะยอมรับเอาแนวคิดและความเชื่อที่ปกคลุมเราอยู่อย่างง่ายดาย เราถูกเรียกให้กระตือรือร้นที่จะทำตามวิธีคิดของพระเจ้า และเรียนรู้ที่จะเข้าใจ “น้ำพระทัยของพระเจ้า จะได้รู้ว่าอะไรดี อะไรเป็นที่ชอบพระทัยและอะไรดียอดเยี่ยม” (ข้อ 2) ให้เราเรียนรู้ที่จะติดตามพระเจ้าแทนที่จะติดตามเสียงอื่นๆ