ในประเทศเนเธอร์แลนด์ กลุ่มนักออกแบบแฟชั่นจัดงานสัมมนาปฏิบัติการเรื่อง “รอยประสานสีทอง” ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากเทคนิค “คินสุกิ” ของญี่ปุ่น ที่จะซ่อมแซมรอยแตกร้าวของเครื่องกระเบื้องด้วยทองคำ โดยผู้เข้าร่วมงานจะร่วมกันซ่อมแซมเสื้อผ้าโดยเปิดเผยให้เห็นถึงรอยซ่อมนั้นแทนที่จะปกปิดเอาไว้ แขกรับเชิญนำ “เสื้อผ้าที่เขารักแต่มีรอยขาดมารับการซ่อมแซมด้วยด้ายสีทอง” เมื่อซ่อมเสร็จ รอยซ่อมแซมบนเสื้อผ้าทำให้เกิดลวดลายใหม่ที่เรียกว่า “แผลเป็นสีทอง”

เสื้อผ้าที่เสียหายได้รับการซ่อมแซมโดยเน้นให้เห็นตำแหน่งที่ขาดหรือหลุดลุ่ย นี่อาจคล้ายกับสิ่งที่เปาโลหมายความถึงกล่าวว่าท่านจะ “อวด” สิ่งที่แสดงให้เห็นถึงความอ่อนแอของท่าน แม้ว่าท่านจะได้รับ “นิมิตและการสำแดงที่มาจากองค์พระผู้เป็นเจ้า” ท่านก็ไม่ได้อวดเกี่ยวกับสิ่งนั้น (2 คร.12:6) ท่านถูกดึงไว้ไม่ให้เย่อหยิ่งหรือมั่นใจเกินตัวโดย “หนามใหญ่” ในเนื้อของท่าน (ข้อ 7) ไม่มีใครรู้แน่ชัดว่าท่านหมายถึงอะไร อาจเป็นความกดดัน ไข้ป่า การถูกข่มหง หรือสิ่งอื่น ไม่ว่ามันคืออะไร ท่านได้ทูลขอพระเจ้าให้เอาออกไป แต่พระเจ้าตรัสว่า “การที่มีคุณของเราก็พอแก่เจ้าแล้ว เพราะความอ่อนแอมีที่ไหน เดชของเราก็มีฤทธิ์ขึ้นเต็มขนาดที่นั่น” (ข้อ 9)

เช่นเดียวกับรอยฉีกขาดบนเสื้อผ้าเก่าที่สามารถกลายเป็นความงดงามด้วยมือของนักออกแบบ บาดแผลและความอ่อนแอในชีวิตของเราก็สามารถกลายเป็นที่ซึ่งฤทธานุภาพและสง่าราศีของพระเจ้าจะส่องประกาย พระองค์ทรงยึดเราเข้าด้วยกัน ทรงเปลี่ยนแปลงเราและทำให้ความอ่อนแอของเรางดงาม