Month: กรกฎาคม 2020

ส่องสว่าง

ฉันรู้สึกกังวลในการสอนชั้นเรียนเรื่องการอธิษฐานห้าสัปดาห์ที่โบสถ์ท้องถิ่นแห่งหนึ่ง ผู้เรียนจะชอบหรือเปล่า พวกเขาจะชอบฉันไหม ความวิตกกังวลทำให้ฉันใช้เวลามากมายไปกับการเตรียมบทเรียน ภาพสไลด์ และเอกสาร จนเหลือเวลาแค่หนึ่งสัปดาห์ แต่ฉันยังไม่ค่อยได้ชวนใครมาเข้าร่วมชั้นเรียนเลย

เมื่ออธิษฐาน ฉันได้รับการเตือนว่าชั้นเรียนนี้เป็นงานรับใช้ที่จะทำให้คนมองไปที่พระเจ้า เพราะว่าพระวิญญาณบริสุทธิ์จะใช้ชั้นเรียนนี้นำคนให้เห็นถึงพระบิดาแห่งฟ้าสวรรค์ ฉันจึงไม่ต้องกังวลถึงการพูดต่อหน้าคนอื่น เมื่อพระเยซูทรงสอนคำเทศนาบนภูเขาแก่สาวก พระองค์ตรัสว่า “ท่าน​ทั้ง​หลาย​เป็น​ความ​สว่าง​ของ​โลก นคร​ซึ่ง​อยู่​บน​ภูเขา​จะ​ปิดบัง​ไว้​ไม่ได้​ เมื่อ​จุด​ตะเกียง​แล้ว ไม่​มี​ผู้ใด​เอา​ถัง​ครอบ​ไว้ ย่อม​ตั้ง​ไว้​บน​เชิง​ตะเกียง จะ​ได้​ส่อง​สว่าง​แก่​ทุก​คน​ที่​อยู่​ใน​เรือน​นั้น​” (มธ.5:14-15)

เมื่ออ่านพระคำตอนนี้แล้ว ฉันจึงประชาสัมพันธ์ชั้นเรียนลงในสื่อออนไลน์ มีคนเริ่มเข้ามาลงทะเบียน แสดงความขอบคุณและตื่นเต้นเกือบจะในทันที เมื่อเห็นการตอบสนองนั้น ฉันใคร่ครวญคำสอนของพระเยซูที่ว่า “จงส่องสว่างแก่คนทั้งปวง เพื่อว่าเมื่อเขาได้เห็นความดีที่ท่านทำ เขาจะได้สรรเสริญพระบิดาของท่านผู้ทรงอยู่ในสวรรค์” (ข้อ 16)

ด้วยมุมมองนั้น ฉันจึงสอนชั้นเรียนอย่างมีความสุข ฉันอธิษฐานขอให้การกระทำเล็กน้อยของฉันจะกลายเป็นดวงไฟและเป็นกำลังใจให้ผู้อื่นส่องสว่างเพื่อพระเจ้าเช่นกัน

สัมผัสผู้ขัดสน

ไม่น่าประหลาดใจที่แม่ชีเทเรซ่าได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ เป็นไปตามที่คาดไว้ เธอรับรางวัลนี้ “ในนามของผู้หิวโหย ผู้ที่เปลือยกาย เร่ร่อน ตาบอด เป็นโรคเรื้อน คนที่รู้สึกว่าไม่เป็นที่ต้องการ ไม่มีใครรัก ไม่ได้รับการดูแลในสังคม” คนเหล่านั้นคือคนที่เธอรับใช้มาเกือบตลอดชีวิต

พระเยซูทรงเป็นแบบอย่างในการดูแลและรักผู้ด้อยโอกาสไม่ว่าจะในสถานการณ์ใด พระองค์ต่างจากพวกนายธรรมศาลาที่ให้ความสำคัญกับกฎวันสะบาโตมากกว่าคนเจ็บป่วย (ลก.13:14) เมื่อพระเยซูเห็นหญิงป่วยที่พระวิหาร ก็ทรงมีพระทัยเมตตา ทรงมองข้ามความบกพร่องทางกายและเห็นว่าหญิงผู้นั้นเป็นสิ่งทรงสร้างอันงดงามของพระเจ้าซึ่งถูกพันธนาการไว้ พระองค์ทรงเรียกเธอเข้ามาหาและตรัสว่าเธอหายจากโรคแล้ว จากนั้นพระองค์ทรง “วางพระหัตถ์บนเขา และในทันใดนั้นเขาก็ยืดตัวตรงได้และสรรเสริญพระเจ้า” (ข้อ 13) การที่พระเยซูสัมผัสหญิงนั้นทำให้นายธรรมศาลาไม่พอใจเพราะวันนั้นเป็นวันสะบาโต พระเยซูผู้เป็นเจ้าแห่งวันสะบาโต (ลก.6:5) ทรงมีพระทัยเมตตาและเลือกที่จะรักษาหญิงผู้เผชิญความทุกข์ยากและถูกดูแคลนมาเกือบยี่สิบปี

ผมสงสัยว่าบ่อยแค่ไหนที่เราเห็นว่าคนบางคนไม่สมควรได้รับความเมตตาจากเรา หรือบางทีเราอาจเคยถูกปฏิเสธเพราะเราไม่ผ่านตามมาตรฐานที่มีคนตั้งไว้ ขออย่าให้เราเป็นเหมือนชนชั้นสูงทางศาสนาที่สนใจในกฎระเบียบมากกว่าเพื่อนมนุษย์ แต่ให้เราทำตามแบบอย่างของพระเยซูและปฏิบัติต่อผู้อื่นด้วยความเมตตา ความรัก และการให้เกียรติ

พระคุณนอกกรอบ

ทอมทำงานในสำนักงานกฎหมายซึ่งให้คำปรึกษากับบริษัทของบ็อบ ทั้งคู่กลายเป็นเพื่อนกัน จนวันหนึ่งทอมยักยอกเงินของบริษัทหลายพันเหรียญ เมื่อบ็อบรู้ เขาเสียใจและโกรธ แต่เขาได้รับคำแนะนำที่ดีจากรองประธานบริษัทของเขาซึ่งเป็นคริสเตียน รองประธานบริษัทเห็นว่าทอมละอายใจมากและสำนึกผิด เขาจึงแนะนำให้บ็อบถอนฟ้องและจ้างทอมทำงาน “ให้เงินเดือนมากพอที่เขาจะชดใช้คืนได้ แล้วคุณจะหาพนักงานที่สำนึกในบุญคุณและภักดีกว่านี้ไม่ได้อีก” บ็อบทำตาม และทอมก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ

เมฟีโบเชท หลานของกษัตริย์ซาอูลไม่ได้ทำอะไรผิด แต่ต้องตกที่นั่งลำบากเมื่อดาวิดขึ้นเป็นกษัตริย์ กษัตริย์ส่วนมากจะฆ่าเชื้อสายของราชวงศ์เก่า แต่ดาวิดรักโจนาธานผู้เป็นโอรสของซาอูล และปฏิบัติต่อโอรสที่ยังมีชีวิตอยู่ของโจนาธานเหมือนเป็นโอรสของพระองค์เอง (ดู 2 ซมอ.9:1-13) พระกรุณาคุณนี้ทำให้พระองค์ได้เพื่อนตาย เมฟีโบเชทประหลาดใจที่เขา “สมควรถึงตายต่อพระพักตร์พระราชาเจ้านายของข้าพระบาท แต่ฝ่าพระบาทก็ทรงแต่งตั้งข้าพระบาทไว้” (19:28) เขาภักดีต่อดาวิด แม้เมื่ออับซาโลมโอรสของดาวิดขับไล่ดาวิดออกจากเยรูซาเล็ม (2 ซมอ.16:1-4; 19:24-30)

คุณอยากมีเพื่อนตายสักคนไหม คุณอาจต้องทำอะไรที่ไม่ปกติธรรมดา เพื่อจะได้มาซึ่งเพื่อนคนพิเศษ เมื่อสามัญสำนึกบอกให้คุณลงโทษ จงเลือกพระคุณ ให้เขาได้รับผิดชอบ แต่จงมอบโอกาสที่เขาไม่สมควรได้รับเพื่อแก้ไขสิ่งผิดให้ถูกต้อง คุณอาจหาเพื่อนที่สำนึกในบุญคุณและอุทิศทุ่มเทกว่านี้ไม่ได้อีก จงคิดนอกกรอบ ด้วยพระคุณ

เชื่อวางใจในเวลาแห่งความโศกเศร้า

เมื่อชายที่รู้จักกันในนาม “คุณพ่อยอห์น” รู้ตัวว่าเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย เขาและแครอลผู้เป็นภรรยาสัมผัสได้ว่าพระเจ้าอยากให้เขาเล่าเรื่องการป่วยนี้บนสื่อออนไลน์ พวกเขาเชื่อว่าพระเจ้าจะทรงทำงานผ่านความอ่อนแอนี้ พวกเขาจึงโพสต์เล่าถึงช่วงเวลาแห่งความยินดี และความโศกเศร้า ความเจ็บปวดเป็นเวลาสองปี

เมื่อแครอลเขียนว่าสามีของเธอ “จากไปสู่อ้อมกอดของพระเยซู” มีคนนับร้อยเข้ามาแสดงความคิดเห็น หลายคนขอบคุณแครอลที่เปิดเผยเรื่องราว คนหนึ่งบอกว่าการได้ยินเรื่องความตายจากมุมมองของคริสเตียนเป็นเรื่องที่ดี เพราะ “เราทุกคนต่างต้องตาย” ในสักวัน อีกคนบอกว่าแม้ไม่เคยพบกันเธอก็ได้รับกำลังใจอย่างมากผ่านคำพยานเรื่องการวางใจพระเจ้าของพวกเขา

แม้บางครั้งคุณพ่อยอห์นรู้สึกเจ็บปวดอย่างที่สุด แต่เขาและแครอลก็เล่าถึงสิ่งที่เกิดขึ้นเพื่อแสดงให้เห็นว่าพระเจ้าทรงค้ำชูพวกเขา พวกเขารู้ว่าคำพยานนี้จะเกิดผลเพื่อพระเจ้า และสะท้อนถึงสิ่งที่เปาโลเขียนถึงทิโมธีเมื่อท่านต้องทนทุกข์ว่า “ข้าพเจ้ารู้จักพระองค์ที่ข้าพเจ้าได้เชื่อและข้าพเจ้าเชื่อมั่นว่า พระองค์ทรงสามารถรักษาซึ่งข้าพเจ้าได้มอบไว้กับพระองค์จนถึงวันพิพากษาได้​” (2 ทธ.1:12)

พระเจ้าทรงสามารถใช้ความตายของคนที่เรารักเพื่อทำให้ความเชื่อของเรา (และของคนอื่น) เข้มแข็งยิ่งขึ้นได้ ผ่านทางพระคุณที่เราได้รับในพระเยซูคริสต์ (ข้อ 9) หากคุณกำลังพบกับความทุกข์และปัญหา จงรู้ไว้ว่าพระเจ้าสามารถนำการปลอบประโลมและสันติสุขมาให้คุณได้

ดูแลโลกของพระเจ้า

“พ่อคะ ทำไมพ่อต้องไปทำงาน” ลูกสาวตัวน้อยถามผมเพราะแรงจูงใจที่อยากจะเล่นกับผม ผมอยากจะลางานแล้วอยู่เล่นกับเธอ แต่ผมมีงานที่ต้องสะสางหลายอย่าง แต่คำถามนั้นเป็นคำถามที่ดี ทำไมเราจึงทำงาน เพื่อจะเลี้ยงดูตนเองและคนที่เรารักเท่านั้นหรือ แล้วงานที่ทำโดยไม่ได้ค่าจ้างล่ะ ทำไมเราถึงทำ

ปฐมกาล 2 บอกเราว่าพระเจ้าทรงให้มนุษย์คนแรกอยู่ในสวนเพื่อ “ทำและรักษาสวน” (ข้อ 15) พ่อตาของผมเป็นเกษตรกร และเขามักจะบอกผมว่าเขาทำการเกษตรก็เพราะรักในผืนดินและปศุสัตว์ นั่นเป็นความคิดที่น่าประทับใจต่ก็ทิ้งคำถามไว้สำหรับคนที่ไม่รักงานของตน เหตุใดพระเจ้าจึงให้เราอยู่ในที่ใดที่หนึ่งเพื่อทำงานที่เฉพาะเจาะจงบางอย่าง

ปฐมกาล 1 ให้คำตอบกับเรา เราถูกสร้างตามพระฉายาของพระเจ้าเพื่อดูแลรักษาโลกที่พระองค์ทรงสร้าง (ข้อ 26) เรื่องการกำเนิดของโลกโดยคนนอกศาสนานั้นบอกว่าบรรดา “เทพเจ้า” สร้างมนุษย์เพื่อเป็นทาสของพวกเขา ปฐมกาลยืนยันว่าพระเจ้าองค์เที่ยงแท้ทรงสร้างมนุษย์เพื่อเป็นตัวแทนของพระองค์ เพื่ออารักขาสิ่งทรงสร้างแทนพระองค์ ขอให้เราสะท้อนถึงระบบระเบียบอันเปี่ยมด้วยปัญญาและความรักของพระองค์ให้โลกได้เห็น งานของเราก็คือการทรงเรียกให้เราดูแลโลกของพระเจ้าเพื่อพระเกียรติของพระองค์

ถูกทรยศ

ในปี 2019 งานแสดงศิลปะทั่วโลกต่างฉลองครบรอบห้าร้อยปีแห่งการเสียชีวิตของลีโอนาโด ดาวินชี ในขณะที่มีการจัดแสดงภาพวาดและการค้นพบทางวิทยาศาสตร์มากมายของเขา แต่กลับมีภาพเขียนเพียงห้าภาพซึ่งเป็นที่ยอมรับทั่วโลกว่าเขียนโดยดาวินชี รวมถึงภาพอาหารมื้อสุดท้าย

ภาพนี้แสดงถึงการร่วมรับประทานอาหารมื้อสุดท้ายของพระเยซูกับเหล่าสาวกจากพระธรรมยอห์น โดยจับภาพความงุนงงของสาวกเมื่อพระเยซูตรัสว่า “คนหนึ่งในพวกท่านจะอายัดเราไว้” (ยน.13:21) เหล่าสาวกต่างสงสัยว่าคนทรยศนั้นคือใคร ขณะที่ยูดาสลอบออกไปเพื่อบอกทหารว่าพระอาจารย์และเพื่อนของเขาอยู่ที่ไหน

ความเจ็บปวดจากการทรยศปรากฏในคำตรัสของพระเยซูว่า “ผู้รับประทานอาหารของข้าพระองค์ก็ยกส้นเท้าใส่ข้าพระองค์” (ข้อ 18) เพื่อนที่ใกล้ชิดมากจนร่วมมื้ออาหารกันได้ใช้ความสัมพันธ์นั้นทำร้ายพระองค์

เราอาจเคยถูกเพื่อนหักหลัง เราทำอย่างไรกับความเจ็บปวดนั้น สดุดี 41:9 ซึ่งพระเยซูตรัสถึงในระหว่างรับประทานอาหาร (ยน.13:18) ทำให้เรามีความหวัง หลังจากดาวิดระบายความเจ็บปวดจากการถูกเพื่อนสนิทหลอกลวง ท่านได้รับการปลอบโยนในความรักและการสถิตอยู่ด้วยของพระเจ้า ซึ่งค้ำชูและวางท่านไว้ต่อเบื้องพระพักตร์ของพระองค์เป็นนิตย์ (สดด.41:11-12)

เมื่อเพื่อนทำให้เราผิดหวัง เราพบการปลอบประโลมได้เมื่อรู้ว่าความรักมั่นคงและการทรงสถิตของพระเจ้าจะช่วยเราให้ทนต่อความทุกข์แสนสาหัสได้

ทำต่อไป

พระเจ้าทรงชอบใช้คนที่โลกนี้มองข้าม วิลเลี่ยม แครีย์เติบโตขึ้นในหมู่บ้านเล็กๆในช่วงทศวรรษ 1700 และเรียนไม่สูงนัก เขาไม่ค่อยประสบความสำเร็จในการค้าขายและใช้ชีวิตอย่างยากจน แต่พระเจ้าให้เขามีภาระใจในการประกาศข่าวประเสริฐ และทรงเรียกเขาให้เป็นมิชชันนารี แครีย์เรียนภาษากรีก ฮีบรู และละติน และต่อมาได้แปลพันธสัญญาใหม่เป็นภาษาเบงกาลี ในปัจจุบันเขาได้รับการยกย่องว่าเป็น “บิดาแห่งพันธกิจยุคใหม่” แต่ในจดหมายที่เขียนถึงหลานชาย เขาเล่าอย่างถ่อมใจว่า “ลุงยังทำต่อไปได้ ลุงพยายามต่อได้”

เมื่อพระเจ้าทรงเรียกให้เราทำภารกิจ พระองค์จะทรงประทานกำลังให้เราสามารถทำได้ไม่ว่าเราจะมีข้อจำกัดใด ในผู้วินิจฉัย 6:12 ทูตของพระเจ้าปรากฏแก่กิเดโอนและกล่าวว่า “เจ้าบุรุษผู้กล้าหาญเอ๋ย พระเจ้าทรงสถิตกับเจ้า” ทูตนั้นบอกให้ท่านไปกอบกู้อิสราเอลจากคนมีเดียนที่มาโจมตีเมืองและพืชผล แต่กิเดโอนซึ่งยังไม่ได้มีสถานะเป็น “บุรุษผู้กล้าหาญ” กล่าวอย่างถ่อมตนว่า “ข้าพระองค์จะช่วยอิสราเอลได้อย่างไร...ข้าพระองค์ก็เป็นคนเล็กน้อยที่สุดในครอบครัวของข้าพระองค์” (ข้อ 15) กระนั้น พระเจ้าก็ยังทรงใช้กิเดโอนเพื่อปลดปล่อยประชากรของพระองค์

กุญแจสำคัญในความสำเร็จของกิเดโอนอยู่ตรงประโยคที่ว่า “พระเจ้าทรงสถิตกับเจ้า” (ข้อ 12) เมื่อเราดำเนินกับองค์พระผู้ช่วยให้รอดด้วยใจถ่อมและพึ่งพาในพระกำลังของพระองค์ พระองค์จะให้กำลังเราในการทำให้สำเร็จในงานซึ่งมีแต่พระองค์เท่านั้นที่ทำได้

รอยแผลของพระองค์

หลังจากพูดคุยกับเกรดี้ ผมก็เข้าใจว่าทำไมเขาจึงชอบทักทายด้วยการ “ชนหมัด” แทนการจับมือ การจับมือทำให้เห็นแผลเป็นบนข้อมือที่เกิดจากการทำร้ายตัวเองหลายครั้งของเขา ไม่ใช่เรื่องแปลกที่เราจะซ่อนแผลเป็นของเรา ไม่ว่าจะเป็นทางร่างกายหรือจิตใจ ทั้งที่เกิดโดยคนอื่นหรือจากตัวเราเอง

หลังจากได้คุยกับเกรดี้ผมคิดถึงแผลเป็นบนพระกายของพระเยซู รอยแผลที่เกิดจากการตอกตะปูเข้าไปในมือและเท้า และรอยแผลที่ถูกหอกแทงที่สีข้าง แทนที่จะทรงซ่อนแผลเป็นนั้น พระเยซูกลับให้ความสำคัญกับมัน

ในตอนแรกโธมัสยังสงสัยในการเป็นขึ้นจากความตายของพระเยซู พระองค์ตรัสกับเขาว่า “จงยื่นนิ้วมาที่นี่และดูมือของเรา จงยื่นมือออกคลำที่สีข้างของเรา อย่าขาดความเชื่อเลยจงเชื่อเถิด” (ยน.20:27) เมื่อโธมัสเห็นรอยแผลด้วยตาตนเองและได้ยินพระสุรเสียงของพระเยซู เขาจึงเชื่อว่าเป็นพระเยซูจริงและร้องว่า “องค์พระผู้เป็นเจ้าของข้าพระองค์และพระเจ้าของข้าพระองค์” (ข้อ 28) พระเยซูจึงทรงอวยพรผู้ที่ไม่ได้เห็นพระองค์แต่ยังคงเชื่อว่า “ผู้ที่ไม่เห็นเราแต่เชื่อก็เป็นสุข” (ข้อ 29)

ข่าวที่ดีที่สุดคือ รอยแผลของพระองค์นั้นก็เพื่อบาปของเรา บาปที่เราทำต่อผู้อื่นหรือต่อตัวเราเอง การสิ้นพระชนม์ของพระเยซูก็เพื่อที่จะยกโทษบาปให้กับบรรดาผู้ที่เชื่อในพระองค์และยอมรับเหมือนกับโธมัสว่า “องค์พระผู้เป็นเจ้าของข้าพระองค์ และพระเจ้าของข้าพระองค์”

แสงริบหรี่ในทะเล

“ผมนอนจมกองเหล้าอยู่บนเตียงอย่างสิ้นหวัง” มัลคอล์ม มักเกอริดจ์ เขียนบันทึกถึงวันที่หดหู่ระหว่างทำภารกิจสายลับในสงครามโลกครั้งที่ 2 “อยู่ตัวคนเดียวในจักรวาล ในนิรันดร์กาล ไม่มีแม้แสงเพียงริบหรี่”

ในภาวะนั้น สิ่งเดียวที่เขาคิดออกคือเขาจะไปกระโดดน้ำตาย เขาขับรถไปที่ชายฝั่งมาดากัสการ์ที่อยู่ใกล้ๆ แล้วว่ายออกไปในทะเลจนหมดแรง เมื่อหันกลับมา เขาเหลือบเห็นแสงริบหรี่บนชายฝั่ง ไม่รู้ด้วยเหตุอันใดเขาเริ่มว่ายกลับมาทางแสงไฟนั้น แม้จะอ่อนแรง แต่เขายังจำได้ถึง “ความยินดีที่เต็มล้น”

มักเกอริดจ์ไม่รู้ว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไร แต่พระเจ้าทรงเอื้อมพระหัตถ์มาหาเขาในเวลาที่มืดมนนั้น เติมความหวังให้กับเขาอย่างอัศจรรย์ อัครทูตเปาโลเองก็มักเขียนถึงความหวังเช่นนี้ ในพระธรรมเอเฟซัส ท่านบันทึกว่าก่อนมารู้จักพระเยซู เราแต่ละคน “​ตายแล้วโดยการละเมิดและการบาป...ไม่มีที่หวังและอยู่ในโลกปราศจากพระเจ้า” (ข้อ 2:1,12) แต่ “พระเจ้าผู้ทรงเปี่ยมด้วยพระกรุณา...แม้ว่าเมื่อเราตายไปแล้วในการบาปพระองค์ยังทรงกระทำให้เรามีชีวิตอยู่กับพระคริสต์” (ข้อ 4-5)

โลกนี้พยายามดึงเราลงสู่ความตกต่ำ แต่ไม่มีเหตุผลที่เราต้องยอมก้มหัวให้กับความสิ้นหวัง ดังที่มักเกอริดจ์พูดถึงการว่ายน้ำในทะเลวันนั้นว่า “ผมได้คิดว่าความมืดนั้นไม่มีอยู่จริง แต่เป็นเพียงการที่เราละสายตาจากแสงสว่างที่ฉายอยู่เป็นนิตย์”

เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ หากท่านใช้บริการเว็บไซต์นี้ต่อไป นั่นเป็นการแสดงว่าท่านยอมรับ นโยบายการใช้คุกกี้ของเรา