ปีนั้นเป็นปี 1918 สงครามโลกครั้งที่หนึ่งใกล้จะสิ้นสุดลง ช่างภาพชื่อว่าเอริค เอ็นสตรอมรวบรวมผลงานของเขา เขาอยากจะให้มีภาพหนึ่งที่สื่อความรู้สึกเต็มอิ่มทั้งที่คนมากมายรู้สึกว่างเปล่า ภาพที่บัดนี้กลายมาเป็นภาพที่เขารักมากเป็นรูปของชายชราไว้เครานั่งอยู่ที่โต๊ะ ก้มศีรษะและพนมมืออธิษฐาน เบื้องหน้าเขามีเพียงหนังสือหนึ่งเล่ม แว่นตา ข้าวต้มหนึ่งถ้วย ขนมปังหนึ่งก้อน และมีดหนึ่งด้าม ไม่มากและไม่น้อยไปกว่านั้น

บางคนอาจบอกว่าภาพถ่ายนั้นแสดงถึงความขาดแคลน แต่เอ็นสตรอมกลับเห็นตรงกันข้าม ว่านี่คือชีวิตที่ครบบริบูรณ์ ชีวิตที่มีการขอบพระคุณ ชีวิตที่คุณและผมมีได้ไม่ว่าสถานการณ์จะเป็นเช่นไร พระเยซูประกาศข่าวดีในยอห์น 10 ว่า “ชีวิต…ครบบริบูรณ์” (10) เราทำความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อข่าวดีนั้นโดยการเอาความบริบูรณ์ไปเทียบกับสิ่งของมากมาย ความบริบูรณ์ที่พระเยซูหมายถึงไม่อาจวัดโดยมาตรฐานของโลกเช่น ความร่ำรวย หรือบ้านและที่ดิน แต่เป็นหัวใจ ความคิด จิตวิญญาณ และกำลังที่เต็มด้วยการขอบพระคุณที่พระผู้เลี้ยงผู้ประเสริฐได้ประทาน “ชีวิตของตนเพื่อฝูงแกะ” (ข้อ 11) และทรงดูแลเราและความต้องการประจำวันของเรา นี่คือชีวิตที่บริบูรณ์ ชีวิตที่ชื่นชมยินดีในความสัมพันธ์กับพระเจ้า ที่เราแต่ละคนมีได้