“โอ ท่าเทียบเรือทุกแห่งคือศิลาครวญ” เป็นวรรคหนึ่งในบทกวีโปรตุเกสของเฟอร์นานโด เปสโซ ท่าเทียบเรือแห่งนี้สะท้อนความรู้สึกของเราในเวลาที่เรือค่อยๆ แล่นห่างออกไป เรือจากไปแล้วแต่ท่าเทียบเรือยังคงอยู่เป็นอนุสรณ์ของความหวังและความฝัน การจากลาและความอาลัยหา เราเจ็บปวดเมื่อต้องสูญเสีย หรือเมื่อไม่อาจได้บางสิ่งมา

คำว่า “คร่ำครวญ” ในภาษาโปรตุเกสหมายถึง ความรู้สึกโหยหา เจ็บปวดจากส่วนลึก กวีผู้นี้กำลังบรรยายความรู้สึกที่ไม่อาจบรรยายได้

ภูเขาเนโบอาจเป็น “ศิลาครวญ” ของโมเสส จากภูเขาเนโบ ท่านกำลังมองดูดินแดนพันธสัญญาซึ่งท่านไม่มีทางจะได้ไปถึง พระเจ้าตรัสกับโมเสสว่า “เราให้เจ้าเห็นกับตา แต่เจ้าจะไม่ได้เข้าไปในแผ่นดินนั้น” (ฉธบ.34:4) ซึ่งดูเหมือนรุนแรง แต่หัวใจสำคัญของเรื่องนี้คือพระเจ้าตรัสเพื่อปลอบโมเสสว่า “นี่คือแผ่นดินซึ่งเราได้ปฏิญาณต่ออับราฮัม อิสอัค และต่อยาโคบว่า ‘เราจะให้แก่พงศ์พันธุ์ของเจ้า’ ” (ข้อ 4) ในไม่ช้าโมเสสจะจากภูเขาเนโบไปยังแผ่นดินที่ดีกว่าแผ่นดินคานาอันมากนัก (ข้อ 5)

บางเวลาในชีวิต เราก็ยืนอยู่ที่ท่าเทียบเรือ คนที่เรารักจากไป ความหวังจางหาย ความฝันต้องพังทลาย เหล่านี้ทำให้เราได้สัมผัสเสียงเพรียกจากสวนเอเดนและจากสวรรค์ การคร่ำครวญจะนำเราให้เข้าใกล้พระเจ้าผู้ทรงเป็นยอดปรารถนาของเรา