ตอนที่ฉันเป็นเด็ก ที่บ้านของเรามีกฎข้อหนึ่งคือ ห้ามเข้านอนหากยังโกรธอยู่ (อฟ.4:26) การทะเลาะเบาะแว้งและขัดเคืองใจกันจะต้องได้รับการคลี่คลายเสียก่อน สิ่งที่เราทำควบคู่กับกฎนี้คือธรรมเนียมปฏิบัติก่อนนอนของเรา พ่อกับแม่จะพูดกับฉันและน้องชายว่า “ราตรีสวัสดิ์ พ่อกับแม่รักลูก” และเราจะตอบว่า “ราตรีสวัสดิ์ หนูก็รักพ่อกับแม่เหมือนกัน”

ไม่นานมานี้ ฉันได้เห็นความสำคัญของธรรมเนียมนี้ที่เราปฏิบัติในครอบครัว ช่วงที่คุณแม่นอนป่วยด้วยโรคมะเร็งปอดใกล้เสียชีวิต ท่านตอบสนองน้อยลงเรื่อยๆ แต่ทุกคืน ก่อนฉันจะละจากข้างเตียงของท่าน ฉันจะบอกท่านว่า “หนูรักแม่ค่ะ” ถึงแม้ท่านจะพูดได้ไม่มาก แต่ท่านก็ตอบว่า “แม่ก็รักลูกเหมือนกัน” ฉันโตขึ้นมาโดยไม่เคยคิดเลยว่าธรรมเนียมปฏิบัตินี้จะมีค่ากับฉันมากในอีกหลายปีต่อมา

ระยะเวลาและการกระทำซ้ำๆ อาจทำให้ธรรมเนียมปฏิบัติของเราหมดความหมาย แต่ธรรมเนียมบางอย่างก็เป็นเครื่องย้ำเตือนความจริงฝ่ายวิญญาณที่สำคัญ ผู้เชื่อในศตวรรษแรกใช้พิธีมหาสนิทขององค์พระผู้เป็นเจ้าในทางที่ผิด แต่อัครทูตเปาโลไม่ได้บอกให้พวกเขาเลิกเฉลิมฉลอง ท่านบอกพวกเขาว่า “เมื่อท่านทั้งหลายกินขนมปังนี้และดื่มจากถ้วยนี้เวลาใด ท่านก็ประกาศการวายพระชนม์ขององค์พระผู้เป็นเจ้า จนกว่าพระองค์จะเสด็จมา” (1 คร.11:26)

แทนที่จะยกเลิก เราน่าจะรื้อฟื้นความหมายของธรรมเนียมปฏิบัติ