หนึ่งสัปดาห์หลังจากที่ซี. เอส. ลูอิส เสียชีวิตในปี 1963 เพื่อนและเพื่อนร่วมงานของเขาได้มารวมกันที่ห้องนมัสการของวิทยาลัยแมกดาเล็น ในเมืองอ็อกซ์ฟอร์ด ประเทศอังกฤษเพื่อระลึกถึงบุรุษผู้นี้ซึ่งงานเขียนของเขาได้ช่วยเติมความเชื่อและเพิ่มพูนจินตนาการให้กับทั้งเด็กและนักวิชาการ

ในพิธีระลึกนี้ ออสติน แฟเรอร์ เพื่อนสนิทของลูอิส เล่าว่า ลูอิสมักจะตอบจดหมายผู้อ่านทั่วโลกด้วยลายมือของเขาเอง “ท่าทีที่เขาปฏิบัติต่อคนทั่วไป คือ เห็นอกเห็นใจและให้ความเคารพผู้อื่น” แฟเรอร์กล่าว “เขาแสดงความชื่นชมคุณด้วยการรับฟังสิ่งที่คุณพูด”

การที่ลูอิสทำเช่นนี้ เขาได้สะท้อนว่าพระเจ้าทรงใส่พระทัยอย่างมากต่อคำร้องทูลของเราเช่นกัน ในช่วงเวลาแห่งความทุกข์ยากอย่างใหญ่หลวง ผู้เขียนสดุดีบทที่ 66 ร้องทูลต่อพระเจ้า (สดุดี 66:10-14) ในเวลาต่อมา ท่านสรรเสริญพระเจ้าที่ทรงช่วยเหลือ “แต่พระเจ้าได้ทรงสดับแน่ทีเดียว พระองค์ได้ทรงฟังเสียงคำอธิษฐานของข้าพเจ้า” (สดุดี 66:19)

เมื่อเราอธิษฐาน พระเจ้าทรงฟังคำของเราและทรงรู้จักใจของเรา แท้จริงเราสามารถพูดได้เช่นเดียวกับผู้เขียนสดุดีว่า “สาธุการแด่พระเจ้า เพราะว่าพระองค์ไม่ทรงปฏิเสธคำอธิษฐานของข้าพเจ้า หรือยับยั้งความรักมั่นคงของพระองค์เสียจากข้าพเจ้า” (สดุดี 66:20) คำอธิษฐานของเราเป็นถนนที่จะนำไปสู่ความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นกับพระองค์ แม้กระทั่งในเวลาที่เราต้องการความช่วยเหลือที่สุด พระองค์ยังทรงสดับฟังคำร้องทูลของเรา – DCM